อาถรรพ์ป่าคำชะโนด : ป่าผืนสุดท้าย ต้นไม้ 2,000 ปี (ตอนจบ)

อาถรรพ์ป่าคำชะโนด

ป่าผืนสุดท้าย ต้นไม้ 2,000 ปี

 

 

ภารกิจฟื้นฟูดำรงรักษาผืนป่าคำชะโนด : แม้ว่าต้องแลกด้วยฉายาป่าอาถรรพ์ 

           ปี พ.ศ. 2549  ความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของป่าคำชะโนดก็เกิดขึ้น  มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจนเกินขอบเขต  มีการสร้างสะพานเข้าเมืองคำชะโนด  และสร้างศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธหลังใหม่  ส่วนบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีการสร้างพญานาคล้อมรอบขอบบ่อ  ส่วนภายนอกนั้นมีการสร้างถนนรอบเกาะคำชะโนด  ภายในบริเวณวัดมีการสร้างพระพุทธรูปยืนปางประทานพรองค์ใหญ่สูงเสียดฟ้า  และสร้างอาคารต่างเพิ่มขึ้น  สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นสาเหตุทำให้ต้นชะโนดเหี่ยวเฉาและตายลง
           การนำสิ่งก่อสร้างที่เป็นวัตถุสมัยใหม่เข้าไปไว้ในป่าคำชะโนด  ล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายและเปลี่ยนระบบนิเวศ  ขัดต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างรุนแรง  จึงมีการระดมความคิดจากหลายฝ่าย  ทั้งทางจังหวัด  ทางอำเภอบ้านดุง  ได้เร่งหาสาเหตุและแก้ไขฟื้นฟู   บ้างก็เสนอว่าให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างนั้นออก  แต่นั้นยังไม่ใช่ทางออกที่ดี  การแก้ปัญหาทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่นั้นด้วย 
           เมื่อถามถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวนั้นมีผลดีหรือผลเสีย  นายเข็มพร  เพ็งสุวรรณ  ชาวบ้านมีชัย  อำเภอบ้านดุงกล่าวว่า
           “ด้านการท่องเที่ยวมีผลดีขึ้นคนรู้จัก  มีคนมาทัศนศึกษามากขึ้น    ส่วนด้านธรรมชาติต้นชะโนดมีการตายบ้างบางส่วน  เพราะน้ำท่วม  มีการแก้ไขโดยสูบน้ำจืดเข้ามารอบ ๆ เกาะคำชะโนด  และไม่ให้ทำนาเกลือใกล้ ๆ บริเวณนี้  มันเป็นผลกระทบถึง  แม้มันไม่เป็นผลกระทบโดยตรง  ตอนนี้ได้มีการนำน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มาขายข้างนอกบริเวณในวัดโดยการให้ผู้สนใจบูชาดพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิตและครอบครัว”
           การพัฒนาเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องดูผลที่ตามมาด้วยว่าจะมีผลดีหรือผลเสียมากน้อยอย่างไร  ผมมองดูรอบ ๆ ทางเข้าสิ่งก่อสร้างเดิมๆที่เติบโตมาพร้อมกับผมได้ถูกทำลายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นต้นดอกจานสีเหลืองที่ออกดอกบานสวยงามช่วงหน้าหนาวข้างสะพาน  ซุ้มประตูโขงทางเข้าที่ทุบทิ้ง สะพานที่ต้องพายเรือเข้าไปในคำชะโนดตอนน้ำท่วม  จะมีเหล่าบรรดาสัตว์น้ำ ปู  ปลา หอย  ปลิงควาย  ว่ายน้ำมาตอนรับคนที่เข้าไปในเมือคำชะโนดเพื่อสักการะเจ้าปู่ศรีสุทโธ  สิ่งเหล่านี้ที่เติบโตมาพร้อมกับผมมันได้หายไปหมดแล้ว  เหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำให้ผมได้คิดถึง
           นายอุทัย ไพเราะ จ้ำปู่ศรีสุทโธ (ร่างทรงทางภาคอีสาน)   ซึ่งเป็นผู้ดูแลป่าคำชะโนด  กล่าวว่า
           “ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้  มีแต่ปูนซีเมนต์มันอาจทำให้ดินเค็มต้นชะโนดในนี้อาจตายได้ หากต้นไหนตายก็จะหักล้มลง  จึงเป็นการเปิดช่องทางลมให้พัดเข้ามาแรงเกินไป  หากไม่มีต้นไม้ใหญ่บังลมข้างนอกอาจจะทำให้ต้นไม้ข้างในโดนลมพัดหักหมด  แล้วมันจะเหลืออะไร  เคยเสนอให้ใช้หินใช้ศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างมันจะไม่ขัดกับสิ่งแวดล้อมนัก  เขาก็หาว่าผมดึกดำบรรพ์เต่าล้านปี” 
           พอพูดเสร็จนายอุทัยถอนลมหายใจมีสีหน้าไม่สู้ดีนัก  
           ทั้งนี้จากการสังเกตจากภายนอกเห็นชัดเจนว่าใบของต้นชะโนดที่เคยมีสีเขียวเข้มสดใส  ลักษณะเหมือนใบตาล กลับมีสีซีดลงมากจนเกือบเหลือง ส่วนปลายใบก็เหี่ยวพับลง รวมทั้งที่โคนก้านติดใบก็มีลักษณะพับลงอีก และจะเป็นเฉพาะต้นที่มีขนาดสูง ที่รายล้อมอยู่รอบๆป่า  ส่วนต้นที่อยู่ด้านใน หรือต้นขนาดเล็ก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และเมื่อเดินเข้าไปใกล้ เห็นชัดเจนอีกว่าน้ำที่เคยท่วมรอบ ๆ ป่า มีระดับลดลงจนเห็นผิวดิน และตลอดสองข้างสะพานเดินเข้าป่า ก็ไม่มีลักษณะชุ่มน้ำเหมือนแต่ก่อน  หากเดินลงไปพื้นจะอ่อนนุ่ม เหมือนเดินบนเลน  ขณะนี้เดินลงไปได้เหมือนเดินบนพื้นดิน ต้นชะโนดอาจจะลดจำนวนลงเรื่อย ๆ หรือไม่อาจตายหมดใน 3-4  ปี  การทำลายธรรมชาติมนุษย์ยังคงเป็นตัวต้นเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้บริเวณรอบ ๆ เกาะคำชะโนดเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนดังเช่นก่อน  เมื่อก่อนหากมองไปยังน้ำรอบ ๆ เกาะจะเห็นกอหญ้ารกรอบ ๆ เกาะ  มีพืชน้ำขึ้นแซมและจอกแหนบนผืนน้ำหนาทึบ 
           ด้านนายอดุลย์ จันทนปุ่ม นายอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า 
           “ต้นชะโนดเหี่ยวในส่วนรอบนอก ทางอำเภอได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้ต้นชะโนดเหี่ยวเฉา น่าจะมาจากระดับน้ำลดลง อาจเกิดจากการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยปล่อยน้ำออกเพื่อสร้างถนน สะพาน เบื้องต้นอำเภอบ้านดุงได้อุดท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำระบายออกไป พร้อมกับทดน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง เข้าไปทดแทนเพื่อรักษาระดับน้ำ และในทางวิชาการทางได้ประสานไปยังป่าไม้จังหวัด และทางเกษตรจังหวัด ให้มาตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ต่อจากนั้นจะขอนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้ ได้เข้ามาตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง”
           จากการที่ต้นชะโนดเหี่ยวเฉาและทยอยตาย  จึงมีการร่วมมือกันของหน่วยงานจังหวัด  เพื่อหาหนทางปรับปรุงแก้ไข ฟื้นฟูป่าแห่งนี้ให้กลับมาดำรงความอุดมสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด  โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาดู  และทำการพลีขอนำต้นเมล็ดออกไปเพื่อเพาะพันธุ์  คาดว่าจะได้ต้นชะโนดเป็น 1,000  ต้น
           นางสมร  สุริยะจันทร์  อาจารย์ประจำวิชาเกษตรกรรมโรงเรียนบ้านดุงวิทยา  ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมหาหนทางฟื้นฟูเกาะคำชะโนดกับทางจังหวัดอุดรธานี  กล่าวว่า
           “ในส่วนทางโรงเรียน  ได้ส่งเสริมให้ให้นักเรียนเพาะพันธุ์ต้นกล้าจากเมล็ดชะโนด  ที่ขอเก็บมาจากโคนต้นชะโนด  ก่อนนำไปปลูกทดแทนกับต้นที่ล้มตายไปจากการพัฒนาที่ผิด ๆ  ปัจจุบันเรามีต้นกล้าอยู่ประมาณ  17,000  ต้น  ที่พร้อมจะเดินทางเข้าสู่ป่าคำชะโนดแล้ว”
           ด้านตัวแทนประชาชนในพื้นที่  ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าคำชะโนดว่า  ครั้งแรกที่มีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ภายในป่า  ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง  แต่ก็เห็นว่ารัฐบาลได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญที่จะพัฒนาป่าคำชะโนดเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ทุกคนต่างก็ดีใจ  เพราะเศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น  จะมีงานทำและมีรายได้จากการขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว  แต่กลับไม่รู้ว่าความเจริญดังกล่าวส่งผลต่อระบบนิเวศของป่าคำชะโนดให้เลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ
           เกาะคำชะโนดหรือจะถึงขั้นวิกฤตแล้ว  แต่ความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อเกี่ยวกับคำชะโนดยังคงแข็งแรงและอยู่ในความความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้าน  เพราะความเชื่อความศรัทธาเกี่ยวกับเจ้าปู่ศรีสุทโธ  ยังฝังอยู่ในส่วนลึกจิตใจของชาวอำเภอบ้านดุงมาแต่โบราณกาล สิ่งที่มองไม่เห็นหรือสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้นั้น  จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล
           ถึงแม้ว่าคำชะโนดจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลงหรือจะมีการค้นหาพิสูจน์เกี่ยวกับเกาะคำชะโนดต่างๆ   ที่เหลือจากนี้คือการรักษาสภาพป่านี้ให้อุดมสมบูรณ์คืนกลับมาโดยเร็ว  แม้ว่าต้องแลกด้วยฉายาป่าอาถรรพ์ก็ตาม

 

ข้อปฏิบัติในการเข้าไปสักการบูชาเกาะคำชะโนด

           1.ห้ามใส่รองเท้า  สวมหมวกเข้าไปในเมืองคำชะโนด
           2.ห้ามนำสุรา  พร้อมสิ่งของเสพติดใดๆเข้าไปในเมืองคำชะโนด
           3.ห้ามขูดขีดต้นไม้บริเวณในวัดและในเมืองคำชะโนด
           4.ห้ามนั่งบนขอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และห้ามนั่งบนราวสะพาน
           5.ห้ามส่งเสียงดัง  ควรพูดคุยกันเบา ๆ แสดงกิริยาสุภาพ
           6.ห้ามพูดจาหยาบคายดุด่าสาปแช่งหรือพูดหมิ่นประมาท
           7.ห้ามทิ้งสิ่งของใดๆลงในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์  จงช่วยกันรักษาความสะอาด
           8.ห้ามทิ้งขยะ  เศษอาหาร  หรือสิ่งของใด ๆ ลงในเมืองคำชะโนด
           9.ห้ามใช้ขันหรือถ้วยแก้วตักน้ำในบ่อศักดิ์สิทธิ์

 


พันธุ์ไม้ในเกาะคำชะโนด

           ชะโนด            1865      ต้น          
           ต้นหว้า            58         ต้น           
           มะเดื่อใหญ่      301     ต้น 
           ประดงแดง      434        ต้น          
           แสมแดง          109      ต้น            
           ไม้ดง               11       ต้น 
           พญาสัตยาบรรณ    30        ต้น     
           มะเดื่อขน        232      ต้น             
           แสงน้ำ             71      ต้น 
           สมุนแว้ง          13         ต้น           
           งิ้วผา                15       ต้น             
           ก้านเหลือง       10      ต้น 
           ยางใหญ่           5           ต้น           
           เหมียดแดง       51       ต้น             
           สมอภิเพก        25     ต้น      
           ตาว                  302       ต้น            
           ไทรหิน            101     ต้น           
           ตับเต่า              12      ต้น 


           ปี 2520 เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านได้ทำการสำรวจจำนวนต้นชะโนดในป่าแห่งนี้ มีอยู่ราว 2,000 กว่าต้น
           ปี 2544 ชาวบ้านสำรวจอีกครั้งพบว่าต้นชะโนดลดลงเหลือเพียง 1,865  ต้น

 

 


โดย สิปประภาส
oknation

บทความที่เกี่ยวข้อง
อาถรรพ์ป่าคำชะโนด : ป่าผืนสุดท้าย ต้นไม้ 2,000 ปี (ตอน 1) ... อ่านต่อ
อาถรรพ์ป่าคำชะโนด : ป่าผืนสุดท้าย ต้นไม้ 2,000 ปี (ตอน 2) ... อ่านต่อ
ประวัติทางรถไฟสายมรณะ ... อ่านต่อ
ดูดวง / ฮวงจุ้ย
ทายนิสัย จากลายมือการเขียนตัวเลข ... BY : หมอเมท ... อ่านต่อ
คาถาทวงหนี้ คาถาอีกาวิดน้ำ ใช้สำหรับคนยืมเงินแล้วไม่คืนหรือของหาย ... อ่านต่อ
ตากระตุก ตาเขม่น ลางสังหรณ์ที่บ่งบอกเรื่องราวอะไร? ... อ่านต่อ
 

 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

หมอดู - ดูดวง - ทำนายเบอร์โทร - ทำนายตัวเลข - หมอเมท - ทศวิวัฒน์ - พยากรณ์เบอร์ - เบอร์มงคล - เลขมงคล - เลขศาสตร์ - หมอดูเบอร์ - จัดเบอร์มงคล - อบรมเรื่องตัวเลข - บทความตัวเลข - เลขรวย

бишкек эскорт

 

Copyright @2014 Horonumber.com All rights reserved.