อาถรรพ์ป่าคำชะโนด
ป่าผืนสุดท้าย ต้นไม้ 2,000 ปี
หลวงปู่คำตา : ไปประกวดชายงามที่เมืองบาดาล
จากบันทึกประวัติคำชะโนดของนายสวาท บุรีเพีย อดีตศึกษาธิการอำเภอบ้านดุง เล่าไว้ว่า หลวงปู่คำตา ศิริสุทโธ ชื่อเดิม นายคำตา ทองสีเหลือง ท่านเกี่ยวข้องกับพญานาค โดยชาวบ้านเชื่อว่าท่านเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าปู่ศรีสุทโธหรือพญาศรีสุทโธนาค พญานาคผู้ครองเมืองคำชะโนด ท่านเป็นชาวบ้านวังทอง ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี มีหลายเรื่องเล่าแปลกประหลาดเกี่ยวกับตัวท่าน
วันหนึ่งท่านกับเพื่อน ๆ ไปซักผ้าที่กลางดงคำชะโนด ขณะที่ตักน้ำอยู่นั้นก็มองเห็นปลาไหลตัวใหญ่ มีตาแดงกร่ำโผล่ขึ้นมาให้เห็น ท่านจึงเรียกให้เพื่อน ๆ มาดู แต่ปลาไหลตัวนั้นมุดลงในบ่อน้ำไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคลื่นน้ำสะเทือนอย่างน่ากลัว
เมื่อถึงฤดูฝนชาวบ้านพากันออกไปยกยอปลาในลำห้วยใกล้ ๆ บ้าน ขณะที่ยกยออยู่นั้นก็เกิดสิ่งประหลาดกับนายคำตา รู้สึกคล้ายมีปลาตัวใหญ่เข้ามาอยู่ในยอ จึงรีบยกยอขึ้น แต่เมื่อยกยอเหนือพ้นน้ำสิ่งที่อยู่ในยอนั้น แทนที่จะเป็นปลาตัวใหญ่กลับกลายเป็นเต้าปูนที่เขาใช้บดปูนกินกับหมาก เมื่อจะยื่นมือลงจะจับดู เต้าปูนนั้นก็ดิ้นเหมือนปลาและกระโดดลงน้ำหายไป
เมื่ออายุครบ 20 ปี นายคำตาก็ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดบ้านวังทอง เรื่องผิดปกติก็ได้เงียบหายไป บวชอยู่ 3 พรรษาก็สึกออกมา
ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ทิดคำตาหรืออาจารย์คำตา ออกไปเกี่ยวข้าวในนาที่บ่อผักไหม ซึ่งห่างจากคำชะโนดประมาณ 200 เมตร เมื่อหยุดพักจากการเก็บเกี่ยวข้าวก็เดินไปที่กระท่อมที่ปลูกไว้สำหรับพักและเฝ้านา พอเดินไปใกล้กระท่อมก็มองเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งกอดเข่าอยู่บนกระท่อมโดยหันหลังให้ เมื่อเธอผู้นั้นหันหน้ามาก็เห็นว่าเป็นคนแปลกหน้าไม่เคยเห็นมาก่อนอายุราว 25 ปี จึงเอ่ยถามผู้หญิงคนนั้นว่า
“นางมาจากไหน จะมาหาใคร”
หญิงสาวยิ้มแล้วตอบว่า“มาหาอาจารย์คำตา เพราะว่าเห็นพวกผู้หญิงเขาลือกันว่าเป็นผู้ชายงามรูปหล่อ ”
“บ้านนางอยู่ที่ไหนล่ะ”
“อยู่ทุกหนทุกแห่งทั่ว ๆ ไป”
พอได้ฟังดังนั้นความกลัวก็เกิดขึ้นจึงตอบกลับไปว่า
“ข้ารู้จักอาจารย์คำตาและสนิทสนมกันดี บ้านอยู่ใกล้กันด้วย จะไปบอกเขาให้นะ”
กล่าวจบแล้วอาจารย์คำตาก็รีบเดินหนีไป กลับเข้าไปในนาแล้วเล่าให้พี่เขยและญาติฟัง จึงพารีบมาดูที่กระท่อม แต่ปรากฏว่าผู้หญิงคนนั้นได้หายไปแล้ว ญาติพี่น้องจึงเป็นห่วงอาจารย์คำตาเนื่องจากมีเหตุการณ์แปลก ๆ กลัวจะเกิดอันตรายจากสิ่งที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุจึงหาวิธีป้องกัน
ขั้นแรกญาติพี่น้องให้เปลี่ยนชื่อ โดยเปลี่ยนจาก “คำตา” เป็น “สุภาพ” ให้ทุกคนเรียกชื่อใหม่อย่าเรียกชื่อเก่า
ขั้นที่ 2 จัดพิธีแต่งงานหลอก ๆ กับญาติผู้หญิงชื่อนางสาวทองคำ สองพาลี
ขั้นที่ 3 แต่งงานแล้วก็ย้ายหนีออกจากบ้านวังทองไปอยู่วัดบ้านหนองกา โดยไปขออาศัยอยู่กับท่านครูคำหรือพระครูสุภารโสภณ เป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงย้ายกลับไปอยู่บ้านวังทองตามเดิม
ต่อมาอีก 2 เดือนญาติพี่น้องก็ได้ไปสู่ขอสาวบ้านเดียวกันจัดพิธีแต่งงานจริง ๆ อีกครั้งหนึ่ง ชีวิตการครองเรือนดำเนินไปอย่างมีความสุข จนกระทั่งภรรยาตั้งท้องและคลอดลูกชายคนแรก
ประมาณเดือน 12 น้ำเริ่มลดลงฝั่ง ในคืนหนึ่งอาจารย์คำตานอนหลับแล้วฝันไปว่า เจ้าปู่ศรีสุทโธได้มาหาที่บ้านเพื่อขอร้องให้ตนไปประกวดชายงามที่เมืองบาดาล แต่ตนไม่ได้ตอบตกลง
คืนต่อมาก็ฝันอย่างเดียวกันอีก เจ้าปู่ศรีสุทโธได้ถามถึงเหตุผลที่ไม่ยอมไปประกวดชายงาม มีเหตุขัดข้องประการใดขอให้บอก อาจารย์คำตาจึงตอบตรง ๆ ไปว่า มีปัญหาอยู่อย่างเดียวคือ “กลัว” กลัวจะพลัดพรากตายจากครอบครัว
เมื่อทราบปัญหาอย่างนั้น เจ้าปู่ศรีสุทโธก็ตอบตกลงปกป้องคุ้มครองและรับประกันว่าจะให้กลับมาอยู่กับลูกเมียแน่นอน เมื่อเจ้าปู่ศรีสุทโธขอร้องหนัก ๆ และรับประกันอย่างแข็งขัน อาจารย์คำตาจึงตอบตกลงไปประกวดชายงามตามคำขอ โดยขอร้องเจ้าปู่ศรีสุทโธว่า เมื่อประกวดเสร็จแล้วจะต้องรีบนำตัวกลับมาส่งบ้านโดยเร็ว เจ้าปู่ศรีสุทโธก็รับที่จะปฏิบัติตามคำขอทุกอย่างและนัดวันเวลาที่จะมารับเรียบร้อย
เมื่อเล่าความฝันให้ภรรยาและญาติฟัง ทุกคนทั้งชาวบ้านที่ได้รู้เรื่องต่างก็เกิดความวิตกกังวลกลัวว่าอาจารย์คำตาจะตายจากไปอยู่กับเจ้าปู่ศรีสุทโธในเมืองบาดาล จึงช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด
พอถึงวันกำหนดนัดหมายเจ้าปู่ศรีสุทโธจะมารับตัวไปประกวดชายงาม ผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศห้ามบรรดาลูกบ้านทุกคนออกนอกเขตหมู่บ้าน จนถึงเวลานัดหมาย เหมือนมีสิ่งดลใจให้ชาวบ้าน เกิดความสบายใจพากันกลับบ้านของตนเหลืออยู่บ้านอาจารย์คำตาเพียงไม่กี่คน
ทันใดนั้นเอง อาจารย์คำตาซึ่งนอนพักอยู่บนเรือนได้ลุกขึ้นวิ่งพรวดพราดลงบันได ตรงไปทุ่งนาใกล้ลำห้วยทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ญาติพี่น้องและชาวบ้านที่เหลืออยู่เห็นเช่นนั้นก็รีบวิ่งตามไปอย่างกระชั้นชิด แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ร่างกายของอาจารย์คำตาหายวับไปกับตา ทั้ง ๆ ที่เป็นทุ่งนาโล่งแจ้งไม่มีต้นไม้พอที่จะบังร่างของคนหนึ่งคนได้เลย ทุกคนตกใจค้นหาหลายชั่วโมงแต่ก็ยังไมพบ จึงปรึกษากันไปตามหมอดูและหมอธรรม (ร่างทรงภาคอีสาน) เมื่อดูแล้วก็บอกให้ทราบว่า เจ้าปู่ศรีสุทโธมารับไปประกวดชายงามแล้วและปลอดภัยดีไม่เป็นอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น
จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันรุ่งขึ้นก็พบร่างอาจารย์คำตานอนสลบไสลไม่ได้สติอยู่บนคันนาตรงจุดที่หายไป จากนั้นจึงทำการรักษาในหมู่บ้านอยู่นานจึงคืนสติคืนมา
พอฟื้นท่านก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อถึงเวลานัดหมายเจ้าปู่ศรีสุทโธได้นำพาหนะชนิดหนึ่งมารับที่บ้าน มีลักษณะคล้ายอู่สวยงามแต่บินได้ เจ้าปู่พาบินไปทางทิศเดียวกับเมืองคำชะโนด
เมืองนั้นสวยงามมาก มีปราสาทมีบ้านเรือนมากมาย อู่ยนต์ได้บินไปปราสาทที่สวยงามที่สุด ซึ่งเป็นปราสาทของเจ้าปู่ศรีสุทโธนั่นเอง เมื่อถึงปราสาทก็ลงจากอู่ยนต์ เข้าไปในห้องหนึ่งเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สวยงามซึ่งเจ้าปู่เตรียมไว้ให้แล้ว เมื่อแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย เจ้าปู่ก็สอนวิธีการเดินและการวางตัวบนเวทีประกวดให้อย่างละเอียด พอได้เวลาเจ้าปู่ก็พาเดินไปยังเวทีประกวดซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่มากและมีคนเฝ้าชมงานประกวดมากมาย
การประกวดปรากฏว่าอาจารย์คำตาได้ตำแหน่งชนะเลิศ เมื่อประกวดเสร็จกรรมการก็มอบรางวัลให้แต่ท่านไม่รับ กรรมการได้ขอร้องให้ท่านไปประกวดต่อที่ปากกระดึงและปากงึมซึ่งจัดงานเหมือนกัน แต่เจ้าปู่ศรีสุทโธไม่อนุญาต เพราะต้องรีบนำอาจารย์คำตาส่งกลับบ้านตามที่สัญญาเอาไว้ แล้วเจ้าปู่ก็พาขึ้นอู่ยนต์ลำเดิมเดินทางกลับบ้าน
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2530 ในคืนวันพระ ขณะที่ท่านรักษาศีลอยู่ในวัดท่านก็ฝันไปว่า เจ้าปู่ศรีสุทโธมาขอร้องให้ท่านบวชแต่การพูดจายังไม่เป็นที่ตกลงกัน เพราะใจท่านยังไม่อยากบวช ยังเป็นห่วงลูกหลานอยู่
ในวันพระที่ 2 ท่านก็ฝันว่าเจ้าปู่ศรีสุทโธได้มาขอร้องให้ท่านบวชอีก แต่ท่านก็ยังไม่ตกลงจนถึงวันพระที่ 3 เจ้าปู่ได้มาเข้าฝันอีก แต่คราวนี้อาจารย์คำตารู้สึกโล่งใจ คล้ายมีอะไรมาดลใจ จึงตกปากรับคำจะบวช เมื่อตกลงแล้วท่านก็แนะนำเรื่องที่จะบวช ให้เข้านาคโกนหัวให้นุ่งขาวห่มขาวในวัน 12 ค่ำ เอาฝ้ายที่จะผูกข้อมือนาคในวันบายศรีสู่ขวัญนาคไปแขวนไว้ในศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธในคำชะโนด และให้บวชในวันพระขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งเจ้าปู่ศรีสุทโธก็จะร่วมพิธีและอนุโมทนาในการบวชครั้งนี้ด้วย การบวชครั้งนี้อาจารย์คำตามีอายุมากแล้วชาวบ้านจึงเรียกหลวงปู่คำตา และมีนามสมญาพระว่า “ศิริสุทโธ”
หลวงปู่คำตาบวชและจำวัดอยู่ที่วัดบ้านวังทองได้ระยะหนึ่งก็ย้ายมาตั้งสำนักสงฆ์ใกล้ ๆ คำชะโนด และได้พัฒนาบุกเบิกก่อตั้งพัฒนาจนมีความเจริญตั้งเป็นวัดชื่อ “วัดศิริสุทโธคำชะโนด”
คืนหนึ่งในระหว่างกลางพรรษาได้ฝันว่าหลวงปู่พาเข้าไปในคำชะโนดไปดูทรัพย์สินทั้งหมดในเมืองคำชะโนด เสร็จแล้วก็นำหลวงปู่คำตาขึ้นไปบนศาลาหลังใหญ่ซึ่งมีคนนั่งรอจำนวนมากประกาศให้ทุกคทราบ
“นี่คือลูกชายของเจ้าปู่ ต่อไปนี้ทรัพย์สินและการปกครองเมืองคำชะโนดนี้จะยกให้ลูกชาย ขอให้ทุกคนเชื่อฟังคำสั่งและอยู่ในความปกครองของลูกชายตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
หลวงปู่คำตาได้อาพาธและได้มรณภาพ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2533
คำชะโนด : ป่าผืนสุดท้ายต้นไม้ 2,000 ปี
บนพื้นที่ราว 20 ไร่ ณ ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี คือ ที่ตั้งของ ป่าคำชะโนด ชาวอำเภอบ้านดุงต่างเคารพนับถือและยึดถือปู่ศรีสุทโธและคำชะโนดเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ คำชะโนดในภาษาถิ่น คำ คือ ที่ที่มีน้ำซับไม่เคยเหือดแห้ง เมืองคำชะโนดอธิบายให้เห็นภาพมีลักษณะเป็นเกาะลอยอยู่บนน้ำ ภายในมีสภาพเป็นป่าพรุดิบชื้น มีต้นไม้แปลกประหลาดที่ชาวบ้านเรียกว่าต้นชะโนด มีลักษณะคล้ายต้นตาลผสมต้นมะพร้าวและต้นหมากอย่างละเท่า ๆ กัน ซึ่งมีอยู่ที่เดียวในโลก แต่ละต้นเรียวยาวสูงเสียดฟ้า ส่วนพื้นดินมีสีดำเปียกชื้นตลอดเวลา มีเฟิร์นขึ้นปกคลุมหนาทึบแดดแทบจะไม่ส่องถึงพื้น และยังมีต้นไม้ใหญ่กับต้นไม้เล็กขึ้นแซมหลายชนิด
คำชะโนดนับว่าเป็นป่าดึกดำบรรพ์ผืนสุดท้ายของประเทศไทยที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากเกาะคำชะโนดนี้จะลอยได้ เมื่อมีน้ำท่วมบนพื้นที่หน้าวัดศิริสุทโธ แต่ไม่ท่วมเกาะคำชะโนด แต่ที่น่าแปลกใจคือ หากพ้นจากดงชะโนดแห่งนี้ไป ห่างกันแค่ไม่ถึง 300 เมตร ก็ไม่มีต้นชะโนดปรากฏให้เห็นแม้แต่ต้นเดียว
นายทองอินทร์ ปักเสติ ชาวบ้านโนนเมือง ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กับป่าคำชะโนด เล่าว่า
“เคยมีคนคิดเอาต้นชะโนดไปปลูกที่อื่นนะ แต่ไม่นานก็ต้องเอากลับมาคืนที่เดิม เพราะชีวิตการงานไม่ก้าวหน้า ชีวิตครอบครัวมีแต่ความเดือดร้อน ขนาดว่าแค่เอาเมล็ดหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นใบแห้ง ๆ ออกจากป่า สุดท้ายต้องเอามาคืนกันหมด”
เคยมีนักวิชาการจากกรุงเทพฯ ได้ไปทำการสำรวจต้นชะโนดมาแล้ว โดยให้ข้อมูลว่าต้นชะโนดที่เห็นอยู่ในเกาะคำชะโนดนำไปพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า ต้นไม้ชนิดนี้อายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี
มีพระภิกษุทำพิธีพลีขอเอามาจากเมืองคำชะโนด เพื่อนำมาปลูกดูภายในวัด ท่านกล่าวว่า โดยนำเอาตั้งแต่ยังเป็นผล เมื่อนำมาปลูกดูนั้นก็เห็นจริงว่าต้นชะโนดเป็นต้นไม้ที่โตช้ามาก ปลูก 2 ปียังต้นเล็กเท่าต้นกล้า ดังนั้นจึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่าการที่นักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่าต้นไม้ชนิดนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี จึงน่าจะเป็นเรื่องจริง
แรกเดิมทีทางเข้าดงคำชะโนดสะพานทำขึ้นด้วยไม้ เมื่อโดนแดดโดนฝนก็ผุพังจึงมีการร่วมกันทอดผ้าป่า สร้างสะพานขึ้นใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทอดตัวยาวจากพื้นที่วัดศิริสุทโธลอดผ่านซุ้มโขงประตูเมืองเข้าไปในคำชะโนด ปัจจุบันมีการสร้างสะพานขึ้นใหม่เป็นรูปปั้นพญานาคเจ็ดเศียรสองตัวทอดตัวบนราวสะพานเข้าไปยังคำชะโนด ที่น่าแปลกก็คือสะพานทำไว้เป็นสองตอนไม่ได้ทอดยาวถึงเมืองคำชะโนด จะมีช่วงที่สะพานเว้นช่วงขาดหนึ่งผ่ามือบริเวณทางเข้าเมืองคำชะโนด ชาวบ้านเล่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ต้องการให้มนุษย์กับพญานาคเชื่อมต่อกันก็เลยทำให้สะพานแตกหัก
นายอุทัย ไพเราะ อายุ 59 ปี แต่งกายในชุดสีขาวซึ่งเป็นจ้ำปู่ศรีสุทโธ(ร่างทรงทางภาคอีสาน) เล่าว่า
“ตอนช่างมาทำสะพานเชื่อมกันเข้าไปในคำชะโนดสร้างกี่ครั้งสะพานก็เกิดพังทลาย ซ่อมกี่ครั้งก็ยังพังเหมือนเดิม กลางคืนเจ้าปู่ศรีสุทโธก็ได้มาเข้าฝันและบอกว่า ให้เว้นช่องขาดระหว่างสะพานไว้ เพราะว่าเส้นทางระหว่างโลกมนุษย์จะเชื่อมต่อเส้นทางเมืองบาดาลไม่ได้ และให้ถอดรองเท้าก่อนถอดหมวกด้วย เพราะใส่รองเท้าเข้ามานั้นบางคนเหยียบสิ่งสกปรกเข้าไปในเมืองหากไม่ทำตามแล้วจะทำให้ทุกคนที่เข้ามาได้เจ็บได้ไข้ เมื่อก่อนใครจะใส่เสื้อผ้าสีแดงเข้ามาคำชะโนดไม่ได้ต้องมีอันเป็นไปทุกราย ภายหลังปู่ศรีสุทโธจึงอนุโลมให้มีผ้าสีแดงเข้ามาได้ เปลี่ยนเป็นให้ถอดรองเท้ากับหมวกไม่ให้พูดจาหยาบคายและห้ามนำสิ่งใดออกไปจากป่าคำชะโนด เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และแต่ก่อนใครมาหาปลาหาของป่าแถวนี้ต้องขอปู่ศรีสุทโธก่อน บางคนทอดแหหาปลาบอกกับปู่ศรีสุทโธว่าขอปลาช่อนตัวใหญ่ ๆ สักตัวก็พอ ผลปรากฏว่าทอดแหก็ได้ปลาช่อนตัวใหญ่มา ทุกคนก็จะได้ เพียง 1 ตัว เหมือนกันแถมขนาดตัวปลาช่อนยังมีขนาดเท่ากันด้วย”
ผมไปถึงทางเข้าคำชะโนดและเดินไปตามทางเข้าสะพานคอนกรีตที่สร้างใหม่ หลายปีแล้วที่ผมไม่ได้กลับมาที่นี่มันเหมือนกลับมาย้อนอดีตวันวานชีวิตที่ผ่านมา บริเวณโดยรอบมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อการท่องเที่ยว สะพานที่สร้างเข้าไปยังคำชะโนด มีการยกราวขึ้นสูงสะพานจนมองไม่เห็นสิ่งแวดล้อมธรรมชาติทางเข้าสองข้างทางสะพาน ผมเขย่งเท้ามองดูธรรมชาติรอบ ๆ ทางเข้าแต่ก็มองไม่ถนัดนัก เมื่อก่อนราวสะพานเป็นเสาปูนราวเหล็กโล่งสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมและธรรมชาติรอบ ๆ อย่างสวยงามมาก แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็คือรอยขาดระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองบาดาล
เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณคำชะโนดความเย็นไต่ขึ้นมาจากปลายเท้าจรดหัวทำให้ขนลุก ป่าคำชะโนดเป็นป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์ มีค้างคาวร้องส่งเสียงทั่วป่า กระรอกวิ่งบนต้นชะโนดกระโดจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง บริเวณบางจุดจะมีกลิ่นฉุนอับชื้นจากมูลสัตว์ ผมเดินเข้าไปศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธและจุดธูปเทียนดอกไม้บูชา ท่องคาถาบูชาเจ้าปู่ศรีสุทโธ “กายะจิตตัง อะหังวันทา นาคาธิบดีศรีสุทโธ วิสุทธิเทวา ปูเชมิ” ที่เขียนในป้าย จากนั้นผมเดินไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตักน้ำในบ่ออธิฐานขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองแล้วนำน้ำมาลูบหัว
ชาวบ้านเชื่อว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คือทางขึ้นลงเชื่อมระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์ในดงคำชะโนด น้ำในบ่อจะมีปริมาณเท่าเดิมอยู่อย่างนั้นและจะขังตลอดปี ไม่เคยแห้ง เคยมีชาวบ้านนำไม้ไผ่ยาว ๆ มาต่อกันยี่สิบกว่าลำไม่สามารถหยั่งถึงก้นบ่อน้ำได้ ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำในบ่อนี้จะไปทะลุที่สะดือแม่น้ำโขงหรือบริเวณวัดอาฮงศิลาวาส จังหวัดหนองคาย
จากที่พ่อเล่าให้ฟัง แรกเดิมทีบ่อน้ำศักดิ์สิทธ์มีความกว้างประมาณหนึ่งเมตรเท่านั้น ต่อมาเกาะคำชะโนดได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นจึงมีการขยายขอบบ่อออกขนาด 5 x 5 เมตร ขอบบ่อหล่อคอนกรีตสูงประมาณ 60 เซนติเมตร สามารถนำกระบวยกะลามะพร้าวก้มลงตักน้ำจากบ่อได้ ปัจจุบันมีการสร้างพญานาค 7 เศียรโอบรอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีน้ำพ่นออกจากปากพญานาคหัวตรงกลางลงมายังบ่ออ่างน้ำวงกลมที่สร้างไว้เพื่อรับน้ำให้คนมาตักไปล้างหน้าและดื่มกิน
ที่บ่อน้ำแห่งนี้บางเวลาจะมีฟองอากาศผุดขึ้นมาคล้ายกับว่ามีสิ่งมีชีวิตบางอย่างกำลังหายใจอยู่ใต้น้ำ ชึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการหายใจของพญานาคจึงทำให้เกิดเป็นฟองอากาศผุดขึ้นมาให้เห็น ต่อมามีสิ่งอัศจรรย์คือรูปปั้นพญานาคและพญาจระเข้ลอยขึ้นมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่รูปปั้นต้องใช้สองมือยกจึงจะยกขึ้น นับว่าเป็นเรื่องแปลกเหลือเชื่อเป็นอย่างมาก
น้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เมื่ออธิฐานนำมารักษาโรคก็จะหาย แต่ก่อนจะนำน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปใช้นั้น ต้องท่องคาถาบูชาสักการะเจ้าปู่ศรีสุทโธก่อน เพื่อเป็นการขอได้อย่างถูกวิธีแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลรักษาอยู่ ทั้งยังเป็นการทำให้น้ำ เปี่ยมไปด้วยเทวฤทธิ์จากนาคทั้งหลายที่มีฤทธิ์อันเป็นทิพย์ และที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งคือเทศกาลออกพรรษาบางครั้งจะ มีลูกไฟประหลาดพุ่งขึ้นจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับบั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคาย
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ คำชะโนดเล่าว่า มักจะพบเห็นสิ่งมหัศจรรย์ในมิติลี้ลับอยู่เสมอ เช่น เห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญ มีผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอผ้าจากชาวบ้าน และเห็นรอยพญานาคขึ้นภายในบริเวณวัดและใกล้ๆเกาะคำชะโนด
เมื่อคราวที่จัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท้องสนามหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2530 น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ “คำชะโนด” ได้รับเลือกไปร่วมงานพระราชพิธี ดังกล่าว
ผมเดินจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และมานั่งไหว้อธิฐานลูบคล้อง ซึ่งเชื่อว่าใครลูบฆ้องและเกิดเสียงแสดงว่าเป็นคนมีบุญ ผมลูบตรงกลางหลุมฆ้องเบาปรากฏว่าเริ่มมีเสียงดังออกมา เมื่อยิ่งลูบเร็วและแรงเสียงฆ้องยิ่งดังสนั่นก้องทั่วป่าคำชะโนด
เกาะคำชะโนดยังเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยังไม่แน่ชัด แต่ก็มีวิทยาศาสตร์ที่พยามจะพิสูจน์ว่าเกาะนี้มันลอยน้ำได้อย่างไร
วิทยาศาสตร์กับความเชื่อ
วิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีการค้นหาเพื่อจะพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ครั้งหนึ่งมีการพิสูจน์บั้งไฟพญานาคที่โพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติหรืออะไรกันแน่ แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้จนวันนี้ แต่ทุกครั้งที่วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องสิ่งต่าง ๆ นั้นจะจะต้องต่อสู้กับความเชื่อของคนในพื้นที่ที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาลที่สืบทอดกันมา บางครั้งก็มีเรื่องขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลมาแล้ว ส่วนคำชะโนดก็เช่นเดียวกัน มีคณะนักวิชาการนักวิทยาศาสตร์และทีมงานจากรายการเรื่องจริงผ่านจอได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่เพื่อหาคำตอบความมหัศจรรย์ของเกาะนี้ว่าลอยน้ำได้อย่างไร เป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์หรือธรรมชาติสร้างขึ้นกันแน่
ร.ศ.ฤดีมล ปรีดีสนิท นักวิชาการผู้ศึกษาวิจัยเกาะคำชะโนด กล่าวว่า “เกาะนี้เป็นเกาะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ โดยการสะสมของซากพืชซากไม้ที่ทับถมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีในแอ่งแห่งนี้ จากเศษผง ซากพืชซากไม้จนกลายเป็นดินในที่สุด ปัจจุบันมีความหนาอยู่ที่1-3 เมตร รากของต้นชะโนดที่แผ่ออกไปในแนวนอนทำหน้าที่เกาะเกี่ยวกันช่วยพยุงเกาะแห่งนี้ให้ลอยน้ำได้”
ดร.อดิชาติ สุรินทร์คำ นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอธิบายถึงเกาะคำชะโนดนี้ว่า
“จะว่าไปก็เหมือนแหลมของแผ่นดินที่ยื่นออกไปแต่มันไม่มีรากเท่านั้นเองไม่มีฐานมันเหมือนเราเอาสวะมากองรวม ๆ กันแล้วมีอะไรดึงไว้ไม่ให้มันลอยไปตามน้ำ จนรากที่มันยึดเกาะติดกัน แล้วมีบางส่วนที่มันเชื่อมจากดินที่ยื่นออกมาจากดินหมู่บ้าน แต่ตรงดินนี้เจาะออกนิดเดียวก็จะเป็นน้ำแล้ว”
มีการสรุปเบื้องต้นว่าในช่วงเวลาน้ำหลากเกาะนี้ก็จะลอยตัวขึ้นตามระดับน้ำหลังน้ำลดเกาะนี้ก็จะยุบตัวลงตามผิวดิน นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้สะพานที่เชื่อมเกาะคำชะโนดและแผ่นดินหลักแตกหักทุกปี
ทางคณะทีมงานได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิกู้ภัยสว่างเมธาอุดรธานีเอื้อเฟื้ออุปกรณ์และนักประดาน้ำ เพื่อที่จะดำน้ำทำการสำรวจพื้นที่ใต้เกาะคำชะโนด เพื่อหาคำอธิบายการลอยของเกาะคำชะโนดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การดำลงไปครั้งแรกคือการดำลงไปสำรวจพื้นที่เกาะด้านล่าง การดำลงไปใต้เกาะคำชะโนดยังไม่มีใครกล้าทำมาก่อน เพราะชาวบ้านเชื่อกันว่าใต้น้ำมีจระเข้และปลาขนาดใหญ่ที่ดุร้ายคอยดูน่านน้ำใต้เกาะให้เจ้าปู่ศรีสุทโธอยู่ จากการสำรวจเบื้องต้นนักประดาน้ำกล่าวว่า
“ข้างล่างน้ำใสมาก เห็นแต่หางสาร่าย และสามารถเข้าไปต่อได้”
การลงไปครั้งที่สองคือการลงไปบันทึกภาพของเกาะคำชะโนด นักประดาน้ำสองคนดำลงไปในทิศทางเดิมระยะกว่า 20 เมตร ผ่านไปประมาณ 10 นาที ก็ได้รับสัญญาณให้ดึงเชือกกลับ เพราะเข้าไปไม่ได้แล้วจึงดึงเชือกขอขึ้นฝั่ง
“ข้างในเป็นโพรงเข้าไปเหมือนถ้ำลอยได้ เคลียร์สะดวกทางโล่ง พอครั้งที่ 2 ปรากฏว่ามันตันเป็นรากหญ้ายาวติดพื้นเข้าไปไม่ได้ ไม่เหมือนรอบแรกมีกิ่งไม้หญ้าบ้าง ผมพยายามเคลียร์ออกแล้วแต่ก็เข้าไปไม่ได้ เวลาแหวกหญ้าเข้าไปเหมือนกับคนมาดึงไว้ไม่ให้เข้าไป”
นับว่านับว่าเป็นการท้าทายอย่างมากในการดำน้ำลงไปสำรวจพื้นที่ใต้เกาะคำชะโนด จากทดลองทางวิทยาศาสตร์ทำให้รู้ภายใต้เกาะคำชะโนดว่ามีลักษณะอย่างไร จึงทำให้เกาะนี้ลอยน้ำได้
“ครั้งแรกที่เข้าไปอาจเป็นการไปทำช่องว่างให้เกิดขึ้น เมื่อเราทำช่องว่างเกิดขึ้นมันจะต้องปรับตัวใหม่ สวะที่อยู่ข้างบนหรือรากไม้ วัชพืชที่เกิดอยู่ในน้ำมันต้องปรับตัวใหม่ ตรงไหนมีช่องว่างมันก็ขยับเหมือนเราขยับเข้าที่ พอไปอีกทีมันก็มาปิดบังแล้ว จะมีต้นไม้บางชนิดที่สามารถเกิดอยู่ในน้ำและบนดินที่เรียกว่าเกาะลอย บางส่วนผมเชื่อว่ามันหยั่งลงไปชั้นดินหรือชั้นหินที่อยู่ข้างล่างใต้หนองน้ำ” ดร.อดิชาติ สุรินทร์คำ กล่าวสรุป
อย่างไรก็ตามชาวบ้านเชื่อว่าดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนต้องห้าม ที่บางทีเราเองไม่ควรก้าวล้ำเข้าไป แต่การสำรวจครั้งนี้วิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยทำให้รู้ว่าเกาะนี้ลอยได้โดยรากของต้นชะโนดหยั่งลึกลงพื้นดินใต้น้ำเกาะคำชะโนด
หมอดู - ดูดวง - ทำนายเบอร์โทร - ทำนายตัวเลข - หมอเมท - ทศวิวัฒน์ - พยากรณ์เบอร์ - เบอร์มงคล - เลขมงคล - เลขศาสตร์ - หมอดูเบอร์ - จัดเบอร์มงคล - อบรมเรื่องตัวเลข - บทความตัวเลข - เลขรวย