พระพุทธรูปปางต่างๆ และประวัติความเป็นมา (ตอน 1)

  

พระพุทธรูปปางต่างๆ (ตอน 1)
 


 

           พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เราพบเห็นกันอยู่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าพระพุทธรูปแต่ละองค์มีที่มาอย่างไรและมีรูปลักษณะอย่างไร เรามีเรื่องราวน่ารู้เหล่านั้นมาฝากกันค่ะ

 


พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต

           พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้น ตั้งฝ่าพระหัตถ์เสมอเสมอพระอุระ (อก) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย อันเป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศบรรพชิต

ความเป็นมาของปางอธิษฐานเพศบรรพชิต

           เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์จนมาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมาจึงเสด็จลงจากหลังม้า ประทับเหนือหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำ รับสั่งแก่นายฉันนะว่าพระองค์จักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นี้ ให้นำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร เจ้าชายสิทธัตถะทรงตั้งพระทัยว่าเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะเสด็จกลับมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติ

 


พระพุทธรูปปางรับมธุปายาส

           พระพุทธรูปปางรับมธุปายาส พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิแบพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดข้าวมธุปายาส บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท

ความเป็นมาของปางรับมธุปายาส

           เช้าวันเพ็ญวิสาขะ หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ปีระกา) อันเป็นวันครบรอบพระชนมายุ 35 พรรษาของพระบรมโพธิสัตว์ นางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่ง แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำถาดทองคำบรรจุข้าวมธุปายาสมาแก้บนต่อรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ ครั้นแลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โคนต้นไทร ทรงมีรัศมีออกจากพระวรกายแผ่ซ่านไปทั่วปริมณฑล เข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา จึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายพร้อมกับถาดทองคำ พระองค์ทรงแบพระหัตถ์ทั้งสองออกรับถาดข้าวมธุปายาส

 


พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา

           พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายื่นออกมาข้างหน้า เป็นกิริยาทรงรับหญ้าคา บางแบบทำเป็นพระอิริยาบถทรงถือหญ้าคาก็มี บางแบบมีรูปพราหมณ์กำลังยื่นหญ้าคาถวายด้วย

ความเป็นมาของปางรับหญ้าคา

           พระบรมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นถาดทองลอยทวนกระแสน้ำดังอธิษฐาน จึงทรงโสมนัส (ดีใจ) เสด็จสู่ร่มสาละ ครั้นถึงเวลาบ่ายได้เสด็จกลับไปยังอัสสัตถโพธิพฤกษ์มณฑล (ร่มโพธิ์) ระหว่างทางได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ถือหญ้ากุสะ (หญ้าคา) 8 กำ เดินสวนทางมา โสตถิยพราหมณ์เลื่อมใสในพระสิริที่งามสง่าของพระบรมโพธิสัตว์จึงน้อมถวายหญ้ากุสะทั้ง 8 กำ

 


พระพุทธรูปปางมารวิชัย

           พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี บางแห่งทำรูปแม่พระธรณีนั่งบีบมวยผมประกอบ นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

ความเป็นมาของปางมารวิชัย

           ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมขล์ 150 โยชน์ ยกทัพมาหมายจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่มีมือนับพันถือศัสตราวุธพร้อมนำเหล่าเสนามารมากมายมืดฟ้ามั่วดิน เหล่าเทวดาทั้งหลายหนีไปหมด แต่พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้นกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น พญามารยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ทรง

           กล่าวว่า "รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำกรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์ให้ไหลพัดพาเหล่ามารไปจนสิ้น"

 


พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้

           พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) สมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย

ความเป็นมาของปางสมาธิหรือปางตรัสรู้

           หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์มีชัยชนะเหนือพญามารแล้ว ทรงบำเพ็ญสมาธิต่อไป เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากอุปกิเลสแล้ว ในปฐมยามทรงบรรลุจตูปปาตญาณ คือสามารถหยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วตายไป ประสบสุขและทุกข์ตามกรรมที่ทำไว้ และในปัจฉิมยามพระองค์ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงทำอาสวกิเลสทั้งหลายให้ดับสิ้นไป จนได้บรรลุอนุตสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลารุ่งอรุโณทัย ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันอยู่ในตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย

 


พระพุทธรูปปางถวายเนตร

           พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเมตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอากาศสังวรพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์

ความเป็นมาของปางถวายเนตร

           หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขที่เกิดจากความหลุดพ้น) ณ ใต้ร่มต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน จากนั้นเสด็จไปทรงยืนอยู่กลางแจ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงทำอุปหาร คือ ยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน โดยไม่กะพริบพระเนตรเลย เพื่อบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ที่เสด็จมาทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ได้นามว่า "อนิมิสเจดียสถาน"

 


พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว

           พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิในเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำที่พระชานุ (เข่า) บางแบบพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถขัดสมาธิเพชรในเรือนแก้ว

ความเป็นมาของปางเรือนแก้ว

           ในสัปดาห์ที่ 4 จากวันตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงพิจารณาธรรมตลอดเวลา 7 วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "รัตนฆรเจดีย์" ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ 1 - 3 พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ) ยังมิได้โอภาสออกจากพระวรกาย จนในสัปดาห์ที่ 4 เมื่อเสด็จประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงพิจารณาในเรือนแก้วแล้ว พระฉัพพรรณรังสีจึงโอภาสออกมาจากพระวรกาย

 


พระพุทธรูปปางนาคปรก

           พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์ และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร

ความเป็นมาของปางนาคปรก

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากใต้ต้นไทร เสด็จไปประทับที่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่ตลอด 7 วันไม่ขาดสาย พญานาคราชชื่อมุจลินทร์ ราชาแห่งนาคพิภพได้ขึ้นมาจากบาดาล ขนดกายเป็นพุทธบัลลังก์ แล้วแผ่พังพานเหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระพุทธองค์ ปกป้องมิให้ลมฝน ยุง เหลือบ ริ้น ไร และสัตว์เลื้อยคลานมาต้องพระวรกาย เมื่อฝนหยุด พญานาคราชจึงจำแลงกายเป็นชายหนุ่มมาถวายนมัสการต่อพระพุทธองค์

 


พระพุทธรูปปางประสานบาตร

           พระพุทธรูปปางประสานบาตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิมีบาตรวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร คว่ำพระหัตถ์ขวายกขึ้นไปปิดปากบาตร

ความเป็นมาของปางประสานบาตร

           หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 49 วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง 4 ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง

 


พระพุทธรูปปางรำพึง

           พระพุทธรูปปางรำพึง พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย

ความเป็นมาของปางรำพึง

           ขณะที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า บุคคลในดลกนี้เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ดังนี้ คือ

           1. อุคฆิฏิตัญญู คือ พวกที่สติปัญญาดี เมื่อฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้เร็ว เสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
           2. วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม ฝึกฝนเพิ่มเติมจะเข้าใจในเวลาอันไม่ช้า เสมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
           3. เนยยะ คือ พวกที่สติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและฝึกฝนอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจได้ เสมือนดอกบัวใต้น้ำซึ่งจะโผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
           4. ปทปรมะ คือ พวกไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจ เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ไม่มีโอกาสเบ่งบาน

           เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณก็ทรงอธิษฐานว่าจะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนา ให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า

 


พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร

           พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้า เสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง

ความเป็นมาของปางห้ามสมุทร

           ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงขอประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของมหาชนในแคว้นมคธ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานัปการ เพื่อให้อุรุเวลกัสสปะคลายความพยศลง พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกรมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง เหล่าชฎิลพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์จึงยอมรับในพุทธานุภาพ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ

 


พระพุทธรูปปางประทานโอวาท

           พระพุทธรูปปางประธานโอวาทหรือปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ไว้เสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาทรงประทานโอวาทปาติโมกข์

ความเป็นมาของปางประทานโอวาท

           ณ พระเวฬวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประมาณ 9 เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ครบองค์ 4 ได้แก่

           1. วันนั้นเป็นวันดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันเพ็ญเดือน 3 )
           2. พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
           3. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6
           4. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ คือ เป็นผู้ที่พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง ในวันนั้นพระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแนวทางในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ใจความสำคัญแห่งพระโอวาทนั้น ได้แก่ ละเว้นความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส วันเพ็ญเดือน 3 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "วันมาฆบูชา"

 


พระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์

           พระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้าง พระวรกาย บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงตามปกติ บางแบบพักพระชานุ (เข่า)

ความเป็นมาของปางแสดงปาฏิหาริย์

           เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติครั้งแรก พระญาติผู้ใหญ่ไม่ทำความเคารพ เพื่อทำให้พระญาติเหล่านั้นลดทิฐิมานะลง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ โดยเหาะขึ้นไปบนอากาศ ประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาทได้หล่นสู่เศียรเกล้าของเหล่าพระประยูรญาติ พระเจ้าสุทโธทนะขึงประณมพระหัตถ์แล้วกราบทูลว่า

           "เมื่อพระองค์ประสูติวันแรก หม่อมฉันให้พี่เลี้ยงพามานมัสการกาฬเทวิลดาบส พระองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ขึ้นไปสถิตอยู่บนชฎาของดาบส หม่อมฉันได้ถวายนมัสการเป็นครั้งแรก ครั้งถึงงานพระราชพิธีวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระองค์ประทับ ณ ใต้ต้นหว้า เงาร่มไม้หว้านั้นก็มิได้เลื่อนขยับไปตามแนวดวงตะวันแม้เป็นเวลาบ่าย หม่อมฉันได้ถวายนมัสการเป็นครั้งที่สอง และครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่หม่อมฉันถวายนมัสการ"

           เหล่าพระประยูรญาติจึงคลายทิฐิมานะ ถวายนมัสการพระพุทธองค์ ด้วยบุญญาภินิหาร พลันเกิดมหาเมฆขึ้นในอวกาศ ยังผลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา น้ำฝนโบกขรพรรษนี้มีสีแดง ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกายจึงจะเปียก หากไม่ปรารถนาก็ไม่เปียก เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ฝนโบกขรพรรษนี้ก็เคยตกมาแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดชาดกแก่พระประยูรญาติ

 


พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร

           พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอวมีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคอง

ความเป็นมาของปางอุ้มบาตร

           หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงเวสสันดรชาดกแล้ว เหล่าพระประยูรญาติต่างถวายนมัสการทูลลากลับสู่พระราชสถาน แต่ไม่มีใครทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้รับภัตตาหารเช้าเลย โดยเข้าใจเอาเองว่า คงเสด็จไปเสวยภัตตาหารในพระราชนิเวสน์ ครั้งถึงรุ่งเช้า พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปางก่อน เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระนครของพุทธบิดา ได้เสด็จบิณฑบาตเพื่อโปรดมหาชน พระพุทธองค์จึงออกบิณฑบาตตามประเพณี

 


พระพุทธรูปปางโปรดพุทธบิดา

           พระพุทธรูปปางโปรดพุทธบิดา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าประคองบาตร พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์

ความเป็นมาของปางโปรดพุทธบิดา

           เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตในพระนคร พระเจ้าสุทโธทนะทรงเห็นว่าเป็นการเสื่อมพระเกียรติของโอรสกษัตริย์ พระพุทธองค์ตรัสอธิบายว่าเป็นพุทธประเพณี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต และที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตต่างก็ดำรงพระชนม์ชีพด้วยอาหารบิณฑบาต จากนั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาอริยวังสิกสูตรแก่พุทธบิดา

           ความว่า เป็นบรรพชิตไม่ควรประมาทในอาหารผู้ประพฤติสุจริตธรรม ย่อมประสบสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อจบพระธรรมเทศนาพุทธบิดาก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน และกราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์พร้อมพระสงฆ์สาวกให้เสด็จไปรับอาหารบิณฑบาต ณ พระราชนิเวศน์ พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุอรหัตผลในเวลาต่อมา


  

ขอบคุณข้อมูลจาก dmc.tv

บทความที่เกี่ยวข้อง
เบญจเพส หรือ วัยเบญจเพส เลขอายุที่ทุกคนเกรง 24 25 26 รู้แล้วป้องกัน ดีกว่าแก้ไขตอนที่เกิด ... อ่านต่อ
ตัวเลขเสริมบุคลิกภาพ เสริมเสน่ห์ให้ผู้หญิง ... อ่านต่อ
ตัวเลข 359 นักพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ... อ่านต่อ
ดูดวง
พระพุทธรูปปางต่างๆ และประวัติความเป็นมา (ตอน 2) ... อ่านต่อ
ธุดงค์คืออะไร แบบไหนถึงจะเรียกว่าพระธุดงค์ ... อ่านต่อ
 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

ขอเครดิตฟรีหน่อยครับสมัครปุ๊บรับปั๊บไม่ต้องฝากสล็อตออนไลน์ เครดิตโบนัสได้เงินจริง slot938 สล็อต สล็อตออนไลน์ thaicasinobin แจกเครดิตฟรี สล็อต บาคาร่า คาสิโนออนไลน์ JQK41 สล็อต เครดิตฟรี ไทยคาสิโนออนไลน์ thaibet55 kubet ไทยคาสิโนออนไลน์ แทงบอล ซอคเกอร์ลีก คะแนนฟุตบอล เว็บพนันอันดับ1 HUC99 เว็บตรง ไม่ผ่านเอเย่นต์

หมอดู - ดูดวง - ทำนายเบอร์โทร - ทำนายตัวเลข - หมอเมท - ทศวิวัฒน์ - พยากรณ์เบอร์ - เบอร์มงคล - เลขมงคล - เลขศาสตร์ - หมอดูเบอร์ - จัดเบอร์มงคล - อบรมเรื่องตัวเลข - บทความตัวเลข - เลขรวย

бишкек эскорт

 

Copyright @2014 Horonumber.com All rights reserved.