7 ตำนานเทศกาลกินเจ

  

7 ตำนานเทศกาลกินเจ

            เทศกาลกินเจเดือนเก้า หรือ เทศกาลกินเจ (เก้าอ๊วงเจ หรือ กิวอ๊วงเจ) เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวจีน โดยจะกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ ตามปฏิทินจีนของทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน ผู้คนส่วนหนึ่งจะไม่กินเนื้อสัตว์   ทำให้ได้ช่วยชีวิตสัตว์ไว้ได้ส่วนหนึ่ง   เนื่องจากมีการฆ่าสัตว์น้อยลง    ผู้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาจะพากันสละกิจโลกียวัตร  และ พากันเข้าวัดวาอารามบำเพ็ญศีลสมาทาน   กินเจ  คือ บริโภคแต่อาหารจำพวกพืชผัก และ ผลไม้เป็นหลัก    ละเว้นไม่กระทำกิจใด ๆ อันนำมาซึ่งการเบียดเบียนเดือดร้อนให้เกิดแก่สัตว์โลก   คือการไม่เอา ชีวิต เลือด เนื้อของสัตว์โลกให้มาเป็นของเรา   พากันซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย วาจา และ ใจ  สวมเสื้อผ้าขาวสะอาด   เข้าวัดเข้าวา  พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน   ทำบุญทำทานแก่สัตว์โลกผู้ยากไร้   ถือศีลกิจเจเป็นเวลา  9  วัน ผู้ถือศีลกินเจ จะมีการชำระกระเพาะให้สะอาดก่อน  โดยการกินเจในมื้อเย็นก่อนวันจริง  1  มื้อ และ  มื้อเช้าหลังวันที่เก้าขึ้น  9  ค่ำอีก  1  มื้อเป็นการลา  ซึ่งจะเป็นวันส่งเจ้า  ในช่วง  9  วันนี้  ทุกวันคี่ จะถือเป็นวันเจใหญ่  พุทธบริษัทจะไปทำบุญ และ กินเจที่ศาสนสถาน  นอกนั้นจะถือศีลกินเจที่บ้านเทศกาลกินเจ    มาจากคำบอกเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมาเป็นเชิงปรำปรา  และ มาจากคำสอน ความเชื่อทางศาสนาพุทธ   ฝ่ายนิกายมหายาน  เป็นกุศโลบายให้คนทำความดี  เหมือนเช่นเรื่องอื่นๆ    แต่คนรุ่นหลังได้มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งพิธีการ เพื่อให้เกิดความขลัง  ให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น   จึงทำให้กลายเป็นพิธีการที่ต้องใช้เงินใช้ทองมากมายในการประกอบพิธีให้ครบถ้วน

ตำนานที่มาของการกินเจ มีเรื่องเล่าอยู่ถึง 7 เรื่องได้แก่ 

ตำนานที่ 1 รำลึกถึงวีรชนทั้ง 9 

            เทศกาลกินเจเริ่มขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว โดยชาวจีนกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งได้ต่อสู้กับชาวแมนจูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ถึงแม้จะแพ้และต้องตายก็ตาม ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณเกิดความเข้มแข็งทางร่าง กายและจิตใจ 


ตำนานที่ 2 บูชาพระพุทธเจ้า 

            เชื่อว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า "ดาวนพเคราะห์" ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาจะสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีล งดเว้นเนื้อสัตว์ และแต่งกายด้วยชุดขาว 


ตำนานที่ 3 เก้าอ๊องฝ่ายมหายาน 

            กล่าวไว้ว่า การกินเจเป็นพิธีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวร โพธิสัตว์ รวมเป็น 9 พระองค์ (หรือ "เก้าอ๊อง") 
ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง ซึ่งได้แก่ คือ

            1.พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ (ดาวไท้เอี้ยงแช คือ พระอาทิตย์)
            2.พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ (ดาวไท้อิมแช คือพระจันทร์ )
            3. พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ(ดาวฮวยแช คือ ดาวอังคาร)
            4 พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ(ดาวจุ้ยแช คือ ดาวพระพุทธ)
            5.พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ(ดาวบักแช คือ ดาวพฤหัสบดี)
            6. พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ(ดาวกิมแช คือ ดาวพระศุกร์)
            7. พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ(ดาวโท้วแช คือ ดาวพระเสาร์)

และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือ

            1.ใพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์(ดาวล่อเกาแช คือพระราหู)
            2.พระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวร โพธิสัตว์ (ดาวโกยโต้วแช คือ พระเกตุ)

            รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์, พระจันทร์, ดาวพระอังคาร, ดาวพระพุธ, ดาวพระพฤหัสบดี, ดาวพระศุกร์, ดาวพระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ

            โดยกล่าวกันไว้ว่า พระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์รวมเป็น 9 พระองค์หรือ “เก้าอ๊อง” ซึ่งได้ทรงตั้ง ปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ด้วยกันคือไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ


ตำนานที่ 4 พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้อง

            เชื่อว่าการกินเจกินเจเป็นการบูชากษัตริย์เป๊ง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่ง เป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการ เมือง ประเพณีนี้เข้ามาสู่เมืองไทยโดยชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่ อีกทอดหนึ่ง 

ตำนานที่ 5 เล่าเอี๋ย 

            เมื่อ 1,500 ปีก่อน ณ มณฑลกังไสซึ่งเป็นแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเก่งทั้งบุ๋น บู๊ ทำให้หัวเมืองต่างๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็ง และมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มากกว่าหลายเท่าตัว โอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่า อีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วย แต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสา และเพ่งญาณเห็นว่า ควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญลีฮั้วก่าย     คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่า มีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบ เศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไป และประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อน และผู้อื่นจึงปฏิบัติตาม จนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย  เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไส จึงได้ศึกษาตำราการกินเจของ เศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธียกอ๋องฮ่องเต้ (พิธีเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในการกินเจ) 


ตำนานที่ 6 เล่าเซ็ง 

            มีชายขี้เมาคนหนึ่งชื่อ เล่าเซ็ง เข้าใจผิดว่า แม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่มาเข้าฝันว่า ตนตายไปได้รับความสุขมาก เพราะแม่กินแต่อาหารเจ และหากลูกต้องการพบให้ไปที่เขาโพถ้อซัว บนเกาะน่ำไฮ้ ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งจึงขอตามเพื่อนบ้านไปไหว้พระโพธิสัตว์ด้วย โดยเพื่อนบ้านให้เล่าเซ็งสัญญาว่า จะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงยอมให้ไป แต่ระหว่างทางเล่าเซ็งผิดสัญญา เพื่อนบ้านจึงหนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เช่นกัน เขาจึงขอตามนางไปด้วย  เมื่อถึงเขาโพถ้อซัว ขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบพระโพธิสัตว์อยู่นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูป แต่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเขาเดินทางกลับ ได้เจอกับเด็กชายยืนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปถามไถ่จนทราบว่า เด็กคนนั้นเป็นลูกชายของเขากับภรรยาเก่าที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วย และต่อมาหญิงสาวที่นำทางเล่าเซ็งไปพบพระโพธิสัตว์ได้มาขออยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข หญิงสาวคนนั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม และถือศีลกินเจอยู่เป็นประจำ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้ว จึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางแต่งตัวด้วยอาภาณ์ขาวสะอาด นั่งสักครู่แล้วก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่ จึงเกิดศรัทธา ยกสมบัติให้ลูกชาย แล้วประพฤติตัวใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่ และหญิงสาว ประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น 


ตำนานที่ 7 การกินเจที่ภูเก็ต 

            มีคณะงิ้วจากเมืองจีน มาเปิดการแสดงที่อำเภอกระทู้นานเป็นแรมปี บังเอิญช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นโรคระบาดก็หาย ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาจึงปฏิบัติตาม หลังจากประกอบพิธีอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็มีผู้คนเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับอยากได้พิธีกินเจที่สมบูรณ์แบบตามประเพณีมณฑลกังไส ประเทศจีน จึงได้ส่งตัวแทนไปนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) จากกังไสให้ลอยมาถึงภูเก็ต โดยในการเดินทางกลับจะต้องคอยจุดธูปต่อกันมิให้ดับมอด ศาลเจ้ากะทู้จึงได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของพิธีกินเจในปัจจุบัน หากจะถือตามนิยายปรำปราอิงประวัติศาสตร์ในปลายราชวงศ์ซ้อง ซึ่ง บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติวัฒนธรรมจีน”  เรียบเรียงโดย   ล.เสถียรสุต  เล่าไว้ว่า   กษัตริย์องค์สุดท้ายมีพระชนม์ชีพเพียง  9  พรรษา เสด็จหนีพวกมงโกลไปยังเกาะไต้หวัน  แต่ได้สิ้นพระชนม์ชีพที่กลางทะเลนั่นเอง   ข้าราชบริพาร  พากันแต่งกายไว้ทุกข์  และ จัดพิธีทางศาสนาพุทธเป็นการอำพราง  แต่สิ่งของต่าง ๆ  ในพิธีเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่กษัตริย์จีนใช้  และ ในพิธียังใช้ราชาศัพท์   ชาวจีนแต้จิ๋วที่เดินทางมาจากฮกเกี้ยนที่ซึ่งกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ซ้องเหยียบแผ่นดินเป็นแห่งสุดท้าย   ได้นำพิธีดังกล่าวมาประเทศไทยด้วย

            เมื่อถึงขึ้น  1  ค่ำ เดือน 9  ตามจันทรคติจีน   เทพเจ้าทั้ง 9 จะผลัดเปลี่ยนกันมาตรวจโลก  คอยให้คุณให้โทษแก่ประชาชนทั่วไป  ด้วยความที่เทพเจ้าทั้ง 9 ทรงมีน้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาคุณ   ควบคุมให้ถึงพร้อมด้วยความบริบูรณ์ทางธรรม  สอดส่องควบคุมทุกข์สุขของสัตว์โลกด้วย  บัณฑิตโบราณจึงบัญญัติไว้ว่า  การทำพิธีกรรมบูชาดาวนพเคราะห์   เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ  ให้พุทธบริษัทมาประชุมบำเพ็ญกุศลวัตรถวายพุทธบริโภค  รักษาศีล  สดับฟังพระอภิธรรม และ ธรรมเทศนา  บริจาคไทยทาน  ทิ้งกระจาด และ ลอยกระทงแผ่กุศลแก่สัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากในนรกอเวจี  อันมีเปรตอสูรกายเป็นอาทิ และ ทำการปล่อยนกปล่อยปลา  เต่า เป็นต้น

            ส่วนความเชื่ออันเป็นที่มาของการถือศีลกินเจของภาคใต้  โดยเฉพาะที่ภูเก็ตนั้น   มีที่มาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และ พระโพธิสัตว์เช่นกัน และ มีชื่อพระพุทธเจ้าต่างออกไปบ้างแต่สุดท้ายก็แบ่งภาคมาเป็น นพราชาเหมือนกัน   เบื้องต้น มาจากแคว้น กังไส   พระราชโอรสทั้งเก้าเสียชีวิตในสงคราม   และจุติเป็นวิญญาณอมตะเที่ยวสอดส่องดูแลทุกข์สุขของชาวเมืองกังไส  และได้แนะนำให้เศรษฐีผู้ใจบุญให้ถือศีลกินเจ ผลไม้ 5 อย่าง  ผัก 6 อย่าง พร้อมกับจุดตะเกียง  9 ดวง  อันหมายถึงพระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์   ในระหว่างกินเจ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามของคาวทุกชนิด   ห้ามดื่มของมึนเมาเป็นต้น  เศรษฐีเห็นว่าพระราชโอรสได้สอนและหายตัวไปในวันที่ 1 เดือน 9  จึงได้กินเจวันดังกล่าวเรื่อยมา   ต่อมาคณะงิ้วผ่านมาเห็นเป็นเรื่องน่ารู้จึงนำเรื่องราวไปแต่งเติมและเล่นงิ้วเผยแพร่ไปทั่ว  พิธีกินเจที่คณะงิ้วนำไปแสดงนั้นมีกำหนดพิธีการต่าง ๆ  เป็นขั้นเป็นตอนเช่น  พิธีอัญเชิญพระอิศวรมาประทับเป็นประธานในพิธีกินเจ    พิธีสักการะนพราชา  พิธีปล่อยทหารเอกออกไปรักษามลฑณพิธี  พิธีเลี้ยงอาหารทหาร  พิธีเรียกทหารกลับ   พิธีลุยไฟ  พิธีสะเดาะเคราะห์เสริมดวงชะตา   และจบด้วยพิธีบวงสรวงดาวนพเคราะห์  ซึ่งพิธีกินเจบางแห่ง  เช่นทางภาคใต้ของไทยมีการแสดงทรมานกาย  มีการแสดงทางทหารเช่นการแสดงเอ็งกอ  นั่นก็มาจากคณะงิ้วที่นำมาเผยแพร่นั่นเอง

            การถือศีลกินเจในเทศกาลกินเจเดือน 9  ตามปฏิทินจีนตามข้างต้นนั้น  เป็นความเชื่อที่ถือกันมาแต่โบราณ   เป็นกุศโลบายของนักปราชญ์   ราชบัณฑิต ผู้มีกุศลจิตในสมัยนั้นที่ต้องการให้ผู้คนให้อยู่ในศีลในธรรม   ถือศีลกินเจ  ทำบุญทำทานเพื่อให้จิตใจอ่อนโยน   มีความเมตตา  กรุณาต่อมวลสัตว์โลกทั้งหลาย       แม้ความเชื่อจะต่างกัน  แต่ผลแห่งการกระทำนั้นคือจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ  บุคคลทั่วไปควรจะลดละอกุศลกรรมทั้งมวล  อุตสาหสะสมแต่สิ่งที่ดีงาม   เพื่อรับพรจากเทพเจ้าทั้ง 9 กระองค์  ก็จักทำให้จิตใจเบิกบาน  ผ่องแผ้ว มีแต่ความสุข   ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตสืบไป

            นอกจากนั้น การกินเจยังเชื่อกันว่าเพื่อเป็นการสักการะพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรือดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ในพิธีกรรมนี้งดเว้นการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยตั้งปณิธานการกินเจ งดเว้นอาหารคาวด้วยการสมาทานรักษาศีล 3 ข้อ คือ

            เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตคน
            เว้นจากการเอาเลือดของสัตว์มาเพิ่มเลือดตน
            เว้นจากการเอาเนื้อของสัตว์มาเป็นเนื้อตน

            เพื่อซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย วาจาและใจ โดยต่างสวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากจุดด่างพร้อย พากันมุ่งหน้าเดินทางเข้าสู่วัดวาอาราม พร้อมด้วยดอกไม้, ธูปเทียน เพื่อไปนมัสการบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ อีกทั้งพระมหาโพธิสัตว์ 2 พระองค์ พร้อมจัดหาเครื่องกระดาษทำเป็นรูปเครื่องทรงเสื้อผ้า, หมวก, รองเท้า, กระดาษเงินและกระดาษทองต่างๆ ไปน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะ เป็นกุศลสมาทาน (ซึ่งในอดีตนั้น จะนำเอาวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ปัจจัย 4 นำไปถวายนักบวช, พระ, เณร หรือผู้ทรงศีล และแจกทานด้วยเสื้อผ้าเงินทองที่เป็นของจริงๆ แก่คนยากจน แต่ภายหลังได้แปรเปลี่ยนไปกลายเป็นใช้กระดาษแทนของจริง) หลังจากนั้นก็จะร่วมกันสวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา แผ่เมตตาจิตขอพร เพื่อความเจริญ สมบูรณ์พูนสุข

 

เนื้อหา : tekkacheemukkhor

  

บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อห้ามและการปฏิบัติตัวในการกินเจ ... อ่านต่อ
รวมสถานที่เทศกาลกินเจ ประจำปี 2557 ... อ่านต่อ
กินเจ...สมวัย อิ่มใจไม่เสียสุขภาพ ... อ่านต่อ
ดูดวง / ฮวงจุ้ย
ทายนิสัย จากลายมือการเขียนตัวเลข ... BY : หมอเมท ... อ่านต่อ
คาถาทวงหนี้ คาถาอีกาวิดน้ำ ใช้สำหรับคนยืมเงินแล้วไม่คืนหรือของหาย ... อ่านต่อ
ตากระตุก ตาเขม่น ลางสังหรณ์ที่บ่งบอกเรื่องราวอะไร? ... อ่านต่อ
 

 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

หมอดู - ดูดวง - ทำนายเบอร์โทร - ทำนายตัวเลข - หมอเมท - ทศวิวัฒน์ - พยากรณ์เบอร์ - เบอร์มงคล - เลขมงคล - เลขศาสตร์ - หมอดูเบอร์ - จัดเบอร์มงคล - อบรมเรื่องตัวเลข - บทความตัวเลข - เลขรวย

бишкек эскорт

 

Copyright @2014 Horonumber.com All rights reserved.