ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป “โรคต้อกระจก” เป็นหนึ่งในโรคทางตาที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามวัย ส่งผลให้เลนส์ขุ่นมัวและการมองเห็นลดลง อย่างไรก็ตาม ต้อกระจกไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของผู้สูงวัยเท่านั้น เพราะยังสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่น ๆ ได้อีกด้วย
แม้ว่าต้อกระจกจะเลี่ยงได้ยาก แต่ก็มีวิธีรักษาที่ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นและกลับมาใกล้เคียงปกติอีกครั้งได้ ในบทความนี้ เราจะพาทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีญาติผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ มารู้จักอาการ สาเหตุ และวิธีรักษาต้อกระจก เพื่อการดูแลดวงตาอย่างถูกต้องและลดความเสี่ยงต่อการมองเห็นที่แย่ลง
ต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะที่เลนส์ตาธรรมชาติซึ่งอยู่ด้านหลังม่านตาเกิดความขุ่นมัว ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าสู่จอประสาทตาได้อย่างเต็มที่ ส่งผลกระทบทำให้การมองเห็นลดลง เกิดการมองเห็นไม่ชัด เหมือนมีหมอกหรือฝ้าอยู่ตรงหน้า โดยตาต้อกระจกนั้นมักเกิดขึ้นตามวัย เนื่องจากโปรตีนในเลนส์ตามีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพไปตามอายุ อย่างไรก็ตาม นอกจากอายุแล้วยังมีปัจจัยอื่นที่อาจเร่งให้เกิดภาวะนี้ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน, การได้รับรังสี UV เป็นเวลานาน, การใช้ยาสเตียรอยด์ หรือการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา เป็นต้น
แม้จะทราบกันดีกว่าโรคต้อกระจกมักจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนวัยอื่น ๆ รวมถึงในเด็กแรกเกิดที่มีภาวะต้อกระจกแต่กำเนิด อาการของโรคอาจเริ่มจากมองเห็นภาพเบลอ เห็นแสงไฟกระจาย หรือมีปัญหาในการมองเห็นในที่มืด หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นและอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
โรคต้อกระจกเป็นโรคที่พัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ โดยอาการจะเริ่มจากความผิดปกติเล็กน้อยและค่อย ๆ รุนแรงขึ้นตามเวลา โดยสามารถแบ่งระยะของอาการได้ดังนี้
1. ระยะเริ่มต้น (Early Stage)
เกิดการมองเห็นเริ่มพร่ามัวเล็กน้อย คล้ายมีฝ้าหรือหมอกบัง
มีการมองเห็นแสงไฟในลักษณะที่จ้าจนเกินไป หรือเห็นแสงกระจายโดยเฉพาะเวลากลางคืน
ในบางครั้งอาจมีอาการตาสู้แสงได้น้อยลง โดยเฉพาะในที่มีแสงจ้ามาก
ดวงตามีการมองเห็นลักษณะสีของสิ่งของซีดจางลง
2. ระยะปานกลาง (Moderate Stage)
การมองเห็นแย่ลง เริ่มมีปัญหาในการอ่านหนังสือหรือขับรถ
เห็นภาพซ้อน หรือมีเงาซ้อนกันโดยเฉพาะเมื่อมองด้วยตาข้างเดียว
ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรม เช่น อ่านหนังสือ หรือทำงานที่ต้องใช้สายตา
เปลี่ยนค่าสายตาบ่อยขึ้น สวมแว่นตาแล้วก็ยังรู้สึกว่ามองไม่ชัด
3. ระยะรุนแรง (Advanced Stage)
การมองเห็นขุ่นมัวมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
มองเห็นเป็นภาพเงา ๆ หรือสีผิดเพี้ยนมากขึ้น
ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาได้ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือขับรถ
อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นถาวร หากไม่ได้รับการรักษาที่้เหมาะสม
หลายคนเข้าใจว่าโรคต้อกระจกมักจะเกิดเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคดังกล่าวมีหลายปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติโดยที่ไม่ต้องถึงวัยสูงอายุได้เช่น โดยสาเหตุของโรคต้อกระจกนั้น หลัก ๆ มีดังต่อไปนี้
ความเสื่อมตามวัย เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ตาต้อกระจกที่พบบ่อยที่สุด โดยมักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในเลนส์ตา ทำให้เลนส์ค่อย ๆ ขุ่นมัว อาการจะค่อย ๆ แย่ลงตามอายุ ส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาว
พันธุกรรม บางคนอาจมีแนวโน้มเป็นต้อกระจกเร็วขึ้นหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคประจำตัว โรคเบาหวานเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง และโรคทางระบบประสาทบางชนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ได้
การได้รับรังสี UV และแสงแดด แสงแดดที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) สามารถทำลายเซลล์ของเลนส์ตาและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก นอกจากนั้น การได้รับรังสีจากแหล่งอื่น เช่น การฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและดวงตา ก็อาจนำไปสู่การเกิดโรคต้อกระจกได้เช่นเดียวกัน
การใช้ยาบางชนิด การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน อาจเร่งให้เลนส์ตาขุ่นเร็วกว่าปกติ นอกจากนั้น ยังมียาบางชนิดอย่างที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช หรือยากลุ่มยาลดคอเลสเตอรอล ก็อาจมีผลต่อสุขภาพดวงตาได้
การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา อุบัติเหตุที่ทำให้ดวงตาได้รับแรงกระแทก หรือการผ่าตัดตาครั้งก่อน ๆ อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ รวมไปถึงการได้รับสารเคมีหรือรังสีที่เป็นอันตรายก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้
แม้ว่าต้อกระจกจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามอายุ แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงและชะลอการเกิดโรคนี้ได้ ด้วยการดูแลสุขภาพดวงตาอย่างเหมาะสม มาดูกันว่าวิธีดูแลดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจกมีอะไรบ้าง ไปอ่านพร้อมกันเลย ดังนี้
สวมแว่นกันแดด เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสี UV โดยควรเลือกแว่นกันแดดที่สามารถป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้ 100% หลีกเลี่ยงการออกแดดจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงกลางวัน
รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพดวงตา เช่น ผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า และแครอท มีสารอาหารพวกวิตามินเอ ลูทีน ที่ช่วยบำรุงเลนส์ตา รวมไปถึงกินปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น ปลาแซลมอนและปลาทูน่า เป็นต้น
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน) โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของต้อกระจก การควบคุมระดับน้ำตาลช่วยลดความเสี่ยงได้
เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก สารพิษจากบุหรี่เร่งให้โปรตีนในเลนส์ตาเสื่อมเร็วขึ้น และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของต้อกระจกได้
หลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน อาจเพิ่มโอกาสเกิดต้อกระจก
ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ แนะนำให้ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพตาทุก 1-2 ปี เพื่อคัดกรองต้อกระจกและโรคตาอื่น ๆ และหากสังเกตว่าตัวเองนั้นมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นไม่ชัดหรือแพ้แสง ไม่ควรละเลยหรือปล่อยไว้ แนะนำว่าควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอาการ และการรักษาที่เหมาะสมจะดีที่สุด
ปัจจุบัน การรักษาต้อกระจกมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูการมองเห็นให้กลับมาใกล้เคียงปกติ โดยเฉพาะการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การรักษาสามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธีหลักดังนี้
การผ่าตัดแผลเล็กร่วมกับการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) วิธีนี้วิธีการรักษาต้อกระจกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งวิธีการรักษาดังกล่าวแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์สลายเลนส์ตาที่ขุ่นออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วดูดออก จากนั้นใส่เลนส์เทียม (Intraocular Lens - IOL) แทนที่เลนส์เดิม จึงทำให้มีข้อดีก็คือ แผลมีขนาดเล็กเพียง 2.2-3 มิลลิเมตร ใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน คนไข้ที่ได้รับการรักษาสามารถฟื้นตัวเร็ว และไม่ต้องเย็บปิดแผลอีกด้วย จึงทำให้เหมาะกับผู้ที่เป็นต้อกระจกที่อยู่ในระยะที่ไม่รุนแรงจนเกินไป
การผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction - ECCE) การผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้างเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีต้อกระจกขั้นรุนแรงหรือเลนส์ตาขุ่นหนามากจนไม่สามารถสลายด้วยคลื่นเสียงได้ โดยการผ่าตัดวิธีนี้ใช้แผลขนาดใหญ่กว่าประมาณ 10 มิลลิเมตร เพื่อนำเลนส์ตาที่ขุ่นออกทั้งชิ้น แล้วใส่เลนส์เทียมแทน อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีการรักษานี้จะมีข้อจำกัดคือผู้ป่วยต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า และเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงกว่าการผ่าตัดแบบ Phaco
การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเลเซอร์ (Femtosecond Laser Surgery) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้เลเซอร์ Femtosecond ในการช่วยวางแผนและผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ เพราะเลเซอร์ช่วยเปิดแผลและสลายเลนส์ตาขุ่นแทนการใช้มีดผ่าตัดแบบเดิม ทำให้ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบดวงตา ระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมเลเซอร์สามารถวิเคราะห์ดวงตาผ่านภาพถ่ายความละเอียดสูง (Optical Coherence Tomography - OCT) ทำให้การรักษามีความแม่นยำสูง วิธีการผ่าตัดต้อกระจกด้วยเลเซอร์นี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความปลอดภัยสูงสุด และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
ทั้งนี้ หลังผ่าต้อกระจก ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิด เช่น หลีกเลี่ยงการขยี้ตา ยกของหนัก หรือว่ายน้ำ ใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจติดตามผลเพื่อให้การฟื้นตัวสมบูรณ์และลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน
โรคต้อกระจกเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพตาที่พบบ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และเกิดจากสาเหตุ เช่น ความเสื่อมตามวัย, แสงแดด, โรคประจำตัว หรือพันธุกรรม แม้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลดวงตา เช่น สวมแว่นกันแดด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงและคงสุขภาพสายตาที่ดี แม้ในวัยที่เพิ่มขึ้นหรือเข้าสู่ช่วงสูงอายุก็ตาม
หมอดู - ดูดวง - ทำนายเบอร์โทร - ทำนายตัวเลข - หมอเมท - ทศวิวัฒน์ - พยากรณ์เบอร์ - เบอร์มงคล - เลขมงคล - เลขศาสตร์ - หมอดูเบอร์ - จัดเบอร์มงคล - อบรมเรื่องตัวเลข - บทความตัวเลข - เลขรวย