ก่อนที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะเป็นที่นิยมในปัจจุบัน อดีตกาลในยุคคอมพิวเตอร์พีซี ยุคแลปทอป ปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง จะละเลยหรือปล่อยวางเป็นไม่ได้
เมื่อในเวลานี้สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตกลายเป็นที่นิยมของใครต่อใคร เปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 และ 6 ที่จำเป็นต้องมี จำเป็นต้องใช้ ย่อมถึงจุดที่เรียกว่า เป็นการขยายตัวของกลุ่มผู้ใช้ ในความนัยเดียวกันนั้นเอง ย่อมหมายถึงว่า กลุ่มผู้ใช้ที่ถูกจัดในกลุ่มของ Bad User ย่อมต้องมองเห็นถึงช่องทาง หวังเข้ามา ‘หาเศษหาเลย’ จากผู้ใช้ โดยคาดหวังว่า จะนำข้อมูลที่ได้นำไปต่อยอดเพื่อเป็นกำไรแก่ตัวเองต่อไป
ปัจจุบันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เป็นระบบปฏิบัติการที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ยอดตัวเลขการใช้งานแอนดรอยด์กว่า 750 ล้านเครื่อง ถือเป็นตัวเลขที่การันตีถึงความสำเร็จดังกล่าว และถ้าหากลองคิดคำนึงถึงในมุมที่คุณเป็น Bad User ยอดการใช้งานแอนดรอยด์กว่า 750 ล้านเครื่องที่ว่า ถ้าแปลงเป็นผลประโยชน์จะคิดเป็นมูลค่ามหาศาลสักเพียงใด
และเพื่อไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของการหาผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องแบบนี้ ขอให้ย้อนกลับคิดคำนึงสักนิดว่า ขณะนี้แอนดรอยด์ในมือคุณ ปลอดภัยดีแล้วหรือยัง ?
ก่อนอื่นให้เราคิดด้วยตรรกะง่ายๆ สมาร์ทโฟนก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ การที่จะทำให้มัน ‘ปลอดภัย’ ได้ในระดับหนึ่ง การเรียกหาและติดตั้งแอปพลิเคชันสแกนมัลแวร์ หรือไวรัสต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีติดตัวไว้ 1 แอปพลิเคชันเพื่อสร้างเป็นเกราะป้องกันในด่านแรก ซึ่งการที่จะหาแอปพลิเคชันสำหรับการสร้างความปลอดภัยแก่สมาร์ทโฟนของคุณภายใน Google Play Store มีให้เลือกทั้งแบบที่เป็นแอปพลิเคชันที่ยินดีให้คุณนำไปใช้งานฟรีๆ หรือแบบเสียค่าบริการ อันนี้สุดแล้วแต่ว่า ผู้ใช้จะเลือกแบบไหน
อย่างที่ทราบกันในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะมีสโตร์สำหรับให้โหลดแอปพลิเคชันอยู่ 2 สโตร์ แต่ในประเทศไทยยามนี้ใช้ได้เพียงแค่ Google Play Store ส่วน Amazon App Store ยังคงต้องรอต่อไป
แน่นอนว่า การโหลดแอปพลิเคชันผ่าน 2 สโตร์นี้ ‘จะปลอดภัยที่สุด’ ถ้าเทียบกับการที่ผู้ใช้แอบเอาไฟล์ที่เป็น .apk ไปติดตั้งลงสู่สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์และแท็บเล็ตของตัวเอง
แต่……..อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า แอปพลิเคชันที่แอปที่อยู่ภายใน Google Play Store หรือ Amazon App Store จะปลอดภัย 100% ขอให้เชื่อว่า ทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ มิเช่นนั้นหลายครั้งหลายเวลากูเกิลคงไม่มา ‘ปราบ’ แอปพลิเคชันขยะออกจากสโตร์ให้เสียเวลา
ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทุกครั้งจึงควรอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้ต้องการจะดาวน์โหลด
ถ้าให้ดีควรอ่านให้หมดทั้งรายละเอียดของ User’s Review ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับแอปพลิเคชันนี้ เรตติ้งของแอปพลิเคชัน ผู้ใช้ที่นอกจากตัวเราแล้วลงความเห็นว่า แอปพลิเคชันนี้ควรจะอยู่ที่กี่ดาว หากมากกว่า 3 ดาวก็ถือว่าน่าสนใจ แต่ถ้าน้อยกว่านั้น เป็นหน้าที่คุณแล้วที่ต้องฉุกคิด
App Permission เป็นสิ่งที่ใครหลายคนละเลยมองข้ามอย่างน่าเสียดาย เหตุเพราะในส่วนนี้จัดเป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกว่า แอปพลิเคชันที่ผู้ใช้ได้โหลดไป จะมีการขอข้อมูลหรือบริการใดๆ บ้าง และมันคงเป็นเรื่องที่ไม่ Make Sense ถ้าหากแอปเกมดันขึ้นข้อความใน App Permission ว่าต้องการขอเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัว เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล แบบนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแล้ว
ผู้ใช้งานแอนดรอยด์ร้อยทั้งร้อย เมื่อซื้อเครื่องมาแล้วมักต้องจับเครื่องมา ‘รูท’ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์การเป็น Super User อันหมายถึงความสามารถในการเข้าถึงระบบของเครื่องทั้งหมด สามารถโละ ปรับแต่ง เครื่องได้อย่างอิสระ ซึ่งการที่เครื่องผ่านการรูทนั่นหมายถึงความเป็นการเปิดช่องให้มัลแวร์หรือสิ่งที่เราไม่ต้องการเข้าสู่ตัวเครื่องได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจเป็นที่มาของการถูก ‘ล้วงตับ’
นอกเหนือจากนี้ ต้องยอมรับอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตชาวไทยหลายคน เลือกที่จะใช้งานแอปพลิเคชันเสียเงินแบบละเมิดลิขสิทธิ์ ผ่านการเปิด unknown sources เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันทุกตัวได้อย่างอิสระ แต่ด้วยการที่แอปพลิเคชันที่โหลดมาจากภายนอกสโตร์ ทำให้มันไม่ได้รับการการันตีว่าปลอดภัย ดังนั้นอย่าไว้วางใจไฟล์ .apk ที่คุณโหลดมาจากกูเกิลเสิร์ช หรือเว็บไซต์แจกไฟล์ .apk เพราะนั่นอาจมีอะไรบางอย่างที่คุณไม่ต้องการ……..แฝงอยู่
โปรดอย่าวางใจหากมีลิงก์ ข้อความ ให้ดาวน์โหลดเพราะนั่นอาจเป็นที่มาของมัลแวร์สู่แอนดรอยด์ได้โดยง่าย ทางที่ดีคือ อย่าโหลดอะไรลงเครื่อง ถ้าต้นทางที่ส่งมาไม่น่าเชื่อถือ แต่ถึงต้นทางจะน่าเชื่อถือ ถ้าพฤติกรรมของผู้ใช้รายนั้นไม่เคยส่งลิงก์ ไม่เคยบอกให้ดาวน์โหลดอะไร หรือจู่ๆ ก็เปลี่ยนมาทักทายเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งที่ทุกทีใช้ภาษาไทยเป็นหลัก นั่นคือสัญญาณอันตรายที่กำลังร้องดังเตือนคุณอยู่
ท้ายที่สุดต่อให้คุณระมัดระวังดีแค่ไหน แต่ถ้าเกิดเครื่องสูญหาย ไม่สามารถเรียกเก็บกลับมาได้ ที่สำคัญตัวเครื่องปราศจากการล็อค ด้วยกลวิธี PIN หรือ Pattern ทุกสิ่งที่ทำมาย่อมเป็นการกระทำที่สูญเปล่า
เพราะฉะนั้นแล้ว ทุกอย่างจะกลับสู่ Back to Basic การป้องกันที่ดีจะเริ่มที่จากจุดเล็กง่ายๆ ที่เรามองข้ามกันนี่แหละ
credit: mobiledista.net