ปรากฏการณ์ ชัชชาติ (ตอนจบ)

ปรากฏการณ์ ชัชชาติ (ตอนจบ)

          มาถึงตอนจบกันแล้วนะครับ ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจกับคำว่า มีม กันก่อนนะครับ
 
          อินเทอร์เน็ตมีม (อังกฤษ: internet meme) คือ แนวความคิดหรือกระแสที่เผยแพร่ไปทั่วอินเทอร์เน็ต เป็นคำที่หมายถึงการแพร่กระจายของเนื้อหาจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง หรือเป็นปรากฏการณ์การแพร่ อินเทอร์เน็ตมีมถือเป็นรูปแบบศิลปะชนิดหนึ่ง
          โดยพื้นฐานที่สุดแล้ว อินเทอร์เน็ตมีมคือการแพร่กระจายผ่านทางไฟล์ดิจิตอลหรือไฮเปอร์ลิงก์จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง โดยวิธีต่าง ๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นอีเมล บล็อก บริการเครือข่ายสังคม เมสเซนเจอร์ เนื้อหามักจะเป็นการพูดหรือเรื่องตลก ข่าวลือ ภาพตัดต่อ หรือภาพต้นฉบับ เว็บไซต์ คลิปวิดีโอ หรือแอนิเมชัน หรือข่าวไม่ปกติ รวมถึงอื่น ๆ อีกมากมาย
          อินเทอร์เน็ตมีม อาจจะมีการแปรเปลี่ยน ไม่ว่าจะผ่านคำวิจารณ์ มีการลอกเลียนแบบ หรือการทำล้อเลียน หรือแม้กระทั่งการสะสมข่าวเกี่ยวกับตัวมันเองไปเรื่อย ๆ อินเทอร์เน็ตมีมมีแนวโน้มว่าจะเกิดและแพร่กระจายอย่างหนัก ในบางครั้งอาจได้รับความนิยมได้ภายในไม่กี่วัน
 
          ที่เขียนมายาวเฟื้อย ทั้งหมดที่ว่ามาตอนแรกนั้นสามารถอธิบายได้แค่ว่า ทำไมชัชชาติจึงได้รับความนิยมหรือความรู้สึกดีๆ จากมวลมหาประชาชน (มติชนเขียนถึงว่า ว่ากันว่า เขาอาจเป็นคนเดียวในรัฐบาลชุดนี้ที่ “กปปส.ไม่เกลียด”) แต่กลับยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า “มีมชัชชาติถือถุงกับข้าว” มันฮิตได้อย่างไร
 
ว่าด้วย “มีมชัชชาติ”
 
          มีมชัชชาติมีที่มาจากภาพ “ชัชชาติไปใส่บาตรที่สุรินทร์” โดยใส่เสื้อดำกางเกงดำแบบเรียบๆ บ้านๆ ถือถุงกับข้าวเดินเท้าเปล่า เข้าวัดเพื่อจะไปใส่บาตรยามเช้า
 
ดูภาพกันอีกรอบนะครับ
 
 
ภาพนี้ระบุว่าเป็นภาพที่แฟนคลับส่งมาให้ในเพจแฟนคลับชัชชาติ (ไม่ใช่เพจ official ด้วยซ้ำ) แต่ด้วยความบังเอิญอะไรไม่ทราบ ภาพนี้องค์ประกอบสำคัญครบ
 
          ** เครื่องแต่งกายของรัฐมนตรีติดดินสุดๆ เสื้อกางเกงสุดเพลน ถือถุงกับข้าว ที่สำคัญเท้าเปล่าด้วย (ในเชิงสัญลักษณ์จึงอาจพออธิบายได้ว่า เท้าเปล่าทำให้ดูติดดินมากเป็นพิเศษ)
          ** รูปร่างของรัฐมนตรีดูมีกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการตัดต่อในเชิง “บ้าพลัง” (ซึ่งจะกล่าวต่อไปในภายหลัง)
          ** พื้นที่เปิดโล่ง ภาษาออกแบบเรียกว่ามี space ให้เกิดจินตนาการเพิ่มเติม เราจึงเห็นการตัดต่อภาพมีมนี้โดยใส่ตัวละครอื่นๆ ลงไปได้อีกมาก โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างบนลานวัดนี้
          ** ภาพนี้ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากตัวชัชชาติเอง subject โดดเด่นมาก เราจึงเห็นการตัดต่อภาพโดยวางตัวละครอื่นๆ เข้ามาทำปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับตัว subject อยู่ตลอด
          ** ฉากหลังเป็นวัดที่ดูบ้านๆ สร้างอารมณ์ร่วมได้ดี (ลองคิดถึงว่าถ้าชัชชาติเดินไปใส่บาตรวัดดังๆ แบบวัดพระแก้ว วัดอรุณ คงดูไม่เด่นเท่านี้) ยิ่งช่วยขับให้ subject เด่นขึ้นอีก ในขณะเดียวกันก็เพิ่มเรื่องราวของความพื้นความเพลนเข้ามาอีก
          ** เป็นภาพที่มีกิจกรรมคือ “เดิน” ชัชชาติกำลังเดิน ไม่ใช่ยืนหรือนั่งนิ่งๆ ดังนั้นกริยามีความ dynamic มีการเคลื่อนที่ การนำภาพไปใช้ต่อจึงง่ายและมีเรื่องราวมากขึ้นมาก (ลองคิดว่าภ้าเป็นภาพชัชชาติยืนเฉยๆ คงไม่เห็นการตัดต่อชัชชาติบนแคทวอล์คหรือเดินบนดวงอาทิตย์)
ดังนั้นเมื่อสตอรี่ของตัวชัชชาติเองถูกปูทางมาอยู่แล้วใน social network สักระยะหนึ่ง (นานพอสมควรจนแพร่หลาย) เมื่อมีภาพนี้หลุดออกมาแล้วมีคนหัวใสตัดต่อภาพชิ้นแรกขึ้น มันจึงระบาดกลายเป็นไวรัล และถูกตัดต่อซ้ำจนกลายเป็น “มีม” อย่างแพร่หลาย 
 
          การที่เทคโนโลยีการตัดต่อภาพและกระจายผ่าน social network ง่ายขึ้นมาก (อ่านทฤษฎีตามลิงก์ในย่อหน้าที่แล้ว) มันเลยยิ่งเป็นปัจจัยเร่ง (multiplier) ให้การตัดต่อเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะขอแค่มีความรู้กราฟิกอยู่บ้าง มีจินตนาการนิดหน่อย ก็สามารถผลิตซ้ำภาพใหม่ๆ ออกมาให้เพื่อนฝูงสนุกสนานไปกับมันได้ พอมีคนทำออกมาหลายๆ แบบ คนที่มีศักยภาพพอทำได้ก็อยากทำเวอร์ชันของตัวเองบ้าง โดยจะอยู่ในรูป ชัชชาติ + ประสบการณ์หรือจินตนาการของตัวเอง (ซึ่งก็มักหนีไม่พ้นการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ)
 
 
 
          อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ “มีมชัชชาติ” กลายเป็นกระแสในรอบ 3-4 เดือนให้หลัง น่าจะมาจากความเครียดและความกดดันจากสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง เมื่อบวกกับชัชชาติที่ไม่ได้แสดงออกทางการเมืองแบบสุดขั้ว (radical) มากนัก (แถมยังแสดงออกในเชิงว่า “คิดต่างกันอยู่ร่วมกันได้” และมีตัวอย่างของพี่ชายฝาแฝดที่ไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. ที่อยู่ขั้วตรงข้ามด้วย) ทำให้ภาพลักษณ์ของชัชชาติอาจดู “กลางๆ” ไม่เอนเอียงไปทางข้างใดข้างหนึ่ง
 
          เมื่อชัชชาติเลือกข้างไม่ชัดเจน ทำให้ผู้คนทั้งสองด้านทางการเมืองยอมรับ (อย่างที่จั่วหัวไปข้างต้นว่า เขาอาจเป็น รมต. คนเดียวใน ครม. ชุดนี้ที่ กปปส. ไม่เกลียด) เมื่อบวกกับมีมที่ทำทางให้ล้อเลียนมาก่อนแล้ว การสร้างมีมล้อเลียนชัชชาติยิ่งกลายเป็นการระบายออกจากความกดดันทางการเมืองในเชิงตลกขบขัน (ซึ่งเป็นวิถีที่ค่อนข้างจะ “ไทยๆ” มาก)
 
          ตัวอย่างภาพข้างล่างนี้ถือเป็นการระบายออกอย่างหนึ่งของความเครียดทางการเมือง โดยจับคู่ขัดแย้งอย่างทักษิณและสุเทพ (ที่มีท่าไหว้อยู่แล้ว) มากราบ “ท่านชัชชาติ” ในทำนองว่าผิดไปแล้วที่ทะเลาะกัน
 

 
ภาพจากเพจ โหดสัส
 
          หมายเหตุ: อ่านเรื่องการนำเสนองานในเชิงตลกเสียดสีที่ไม่เป็นทางการได้จากหนังสือ “อัตลักษณ์ไทย: จากไทยสู่ไทยๆ” ของประชา สุวีรานนท์ ที่พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างละเอียดกับงานโฆษณาไทยเชิงตลก (เช่น โฆษณาชุดไอ้ฤทธิ์กินแบล็ค) โดยประชาเรียกอัตลักษณ์ไทยแบบในกรอบว่า “ไทย” และอัตลักษณ์แบบนอกกรอบว่า “ไทยๆ”, อ่านเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์ของประชาที่ สัมภาษณ์ ประชา สุวีรานนท์: รีดีไซน์ “ไทยๆ” แลนด์
 
เจ้าตัวเล่นเอง ตัวคูณของกระแสชัชชาติ
 
          ช่วงต้นๆ ของกระแสมีมชัชชาตินั้น เราพอเห็นท่าทีในเชิงกล้าๆ กลัวๆ ของผู้ตัดต่อภาพว่า “คุณชัชชาติจะว่าอะไรไหม” “แรงไปไหม”
 
          ความหวาดหวั่นเหล่านี้สิ้นสุดลงไปในทันที เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2014 ในช่วงที่กระแส Shutdown Bangkok กำลังสร้างความหวั่นใจให้กับประชากรในประเทศกรุงเทพ ว่าจะไปทำงานได้ไหม รถจะติดไหม
 
          เพจของชัชชาติได้โพสต์รูปตัดต่อที่ล้อเลียนประเด็นคำพ้องเสียง “Shutdown” = “ชัช+ดาว” โดยมีเนื้อหาเชิงวิชาการพูดถึงสภาพจราจรในกรุงเทพ แต่เนื้อหาก็ส่วนเนื้อหา ประเด็นสำคัญกลับเป็นคำอธิบายในย่อหน้าสุดท้ายที่บอกว่า
 
          "การรับมือ “ชัชดาว” (รูปผมตอนใส่บาตรที่สุรินทร์ มีพวกเราเอาไปตัดต่อกันเยอะ รูปชัชดาวนี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ไอเดียสุดยอดจริงๆ ขอคารวะ) นอกจากเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว คงต้องใช้วิธี “ยิ้มสู้” ครับ มองโลกในแง่ดีว่าทำให้ได้หยุดเรียน มีข้ออ้างในการมาทำงานสาย และกลับบ้านดึก มีเวลาอยู่กับครอบครัวในรถมากขึ้น จะได้ไม่เครียดมาก
 
          ย่อหน้านี้กลายเป็นคำอธิบายแบบอ้อมๆ ที่บอกสาธารณชนคนมีมว่า “เล่นได้เลยไม่เป็นไร” และกลายเป็นเหมือนใบอนุญาตให้เกิดกระแสมีมชัชชาติตามมาอีกเยอะในหลายสัปดาห์ต่อมา
 

 
หลังจากนั้น เพจชัชชาติยังลงรูปล้ออีกหลายรูป แถมมีการ์ตูน มีไอคอนประกอบตามสมัยนิยมด้วย เรียกว่าทีมงานเฟซบุ๊กรัฐมนตรีทำงานเกาะกระแสกันอย่างเต็มที่
 

 
ที่เหลือตามไปดูกันเองในเพจรัฐมนตรีครับ
 
ชัชช่าบ้าพลัง Staying Power
 
          ธีมหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากมีมชัชชาติคือ “ความบ้าพลัง” หรือ “กล้ามเนื้อ” (muscles) โดยอาศัยภาพลักษณ์ของชัชชาติที่ตัวล่ำๆ กล้ามใหญ่ๆ ผิดวิสัยรัฐมนตรี มาผสานเข้ากับการ์ตูน เกมส์ หรือภาพยนตร์แนวๆ กล้ามเนื้อ แอคชั่น ต่อสู้ ที่คนตัดต่อภาพทั้งหลาย (ซึ่งก็น่าจะเป็นผู้ชายอยู่ในช่วงอายุปลาย Gen X ต้น Gen Y) คุ้นเคยกันดีกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นหรืออเมริกัน
 
          เราจึงเห็นชัชชาติถูกดัดแปลงไปเป็นนักรบจาก 300, ฮีโร่จาก Avengers, ใส่เกราะแบบเซนต์เซย่า, เบ่งพลังแบบดราก้อนบอล, ไปต่อยกับฮันมะ ยูจิโร่ (สุดยอดคาแรกเตอร์สายบ้าพลังจากการ์ตูนเรื่อง บากิ), ไปถล่มเมืองตามแนวหนังหายนะทั้งหลาย, ต่อสู้แบบแก๊งมาเฟียฮ่องกง ฯลฯ (มากมายนับไม่ถ้วน) ในลักษณะเดียวกับที่ Chuck Norris ดาราอเมริกันเคยเจอมาก่อน
 
          ทีมงาน Faceblog ได้พยายามรวมรูปมีมชัชชาติเก็บไว้บน Pinterest Chadchart Power ใครสนใจดูรูปอื่นๆ ก็ตามไปดูได้นะครับ (รูปเยอะมากคงลงได้ไม่หมด)
 
          “ชัชชาติบ้าพลัง” จึงเป็นส่วนผสมที่เกิดขึ้นจาก “ความเป็นชัชชาติ” กับ “จินตนาการของผู้ชาย” โดยผ่านเครื่องมือตัดต่อภาพแบบ Photoshop และส่งต่อกันจนเกิดเป็นกระแส
 
          การดัดแปลงแนวบ้าพลังนี้ยังค่อยๆ สั่งสมตัวจนกลายเป็น “มีมซ้อนมีม” เกิดการ์ตูนล้อเรื่องความเก่งฉกาจของชัชชาติตามมาอีกมาก (ซึ่งก็จะเป็นแนวเดียวกับ Chuck Norris อีกนั่นแหละ)
 
 
 Sub-meme ชัชชาติซ้อนชัชชาติ
 
          กระแสชัชชาติกลายเป็น cult และก่อให้เกิดการต่อยอดมีมซ้อนมีม มีมย่อยของชัชชาติอีกหลายอย่าง เช่น
 
ชัชชาติกับแมว 
 
          เรื่องเกิดจากวันที่ 24 ม.ค. 2014 รัฐมนตรีชัชชาติไปตรวจสถานีรถไฟลาดกระบัง แล้วไปเจอแมวในห้องนายตรวจตั๋วชื่อ “เจ้าหลง” แล้วเอามาโพสต์ใน Facebook
 

 
          กระแสมวลมหาประชาคนรักแมว ดีดตัวตอบรับรูปแมวรัฐมนตรีทันที โพสต์นี้ได้รับการกดไลค์ 3.1 หมื่นครั้ง เทียบโพสต์ก่อนหน้าที่ชัชชาติไปเยี่ยมตำรวจจราจร ได้คะแนนไลค์ไปเพียง 9.7 พันครั้งอย่างเทียบไม่ติด (ที่ตลกคือในโพสต์ต่อมา “เจ้าหลง” กลายร่างเป็นแมวห้อยนกหวีดซะอย่างงั้น)
 
          หลังจากนั้น “เจ้าหลง” ก็เลยเปลี่ยนสถานะเป็น “สัตว์เลี้ยงของชัชชาติ” ในมีมชัชชาติเดินไปในที่สุด (ดูรูปชัชชาติโปเกมอน มีเจ้าหลงเกาะไหล่ได้ข้างบนๆ) และก็มีโพสต์แบบ “เจ้าตัวเล่นเอง” ตามมาอีก
 
 
ชัชชาติกับจักรยาน
 
          รัฐมนตรีชัชชาติทั้งวิ่งและขี่จักรยานมานานแล้ว แต่มาฮิตแตกในวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ที่คนทั้งประเทศจับตาดูว่า เฮ้ย จะมีความรุนแรงอะไรบ้างไหม สิ่งที่เราเห็นกลับเป็นข่าวรัฐมนตรีชัชชาติขี่จักรยานมาเลือกตั้ง! (แถมใส่เสื้อเด็กแนวแบบ a day) ทำให้ชาวบ้านงงกันเป็นแถบๆ
 
 
          หลังจากนั้นเราเห็น sub-meme ชัชชาติขี่จักรยานตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชัชชาติขี่ฉลาม ชัชชาติขี่มอเตอร์ไซด์ไอ้มดแดง ฯลฯ รวมถึงมีคนโพสต์ถามหาจักรยานสีแดงรุ่นเดียวกับรัฐมนตรีใช้อีกด้วย
 
ชัชชาติคอสเพลย์
 
          ความเรียบง่ายของภาพมีมชัชชาติเวอร์ชันต้นฉบับ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกาย เสื้อแขนกุดสีดำ กางเกงขาสั้นสีดำ ถอดรองเท้า และพร็อบประกอบฉากคือ “ถุงแกง” ทำให้มันถูกจับมาบวกกับความนิยมเรื่อง “คอสเพลย์” ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่นิยมคอสเพลย์ตามการ์ตูนญี่ปุ่น ผลลัพธ์ออกมาเป็น “คอสเพลย์ชัชชาติ” ที่น่าทึ่ง
 
          เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากแต่งกายเป็น “ชัชชาติ” ตามสถานที่ต่างๆ (ด้วยความที่เครื่องแต่งกายหาง่ายมาก แต่แต่งแล้วมี meaning) โดยกลุ่มที่โดดเด่นคือการคอสเพลย์ชัชชาติแล้วไปเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งถือเป็นการ “ล้อการเมือง” แบบที่เขียนถึงไปแล้วข้างต้น
 
          เมื่อเครื่องแต่งกายและท่าทางเหมือนกันหมด การสร้างความโดดเด่นให้กับ “คอสเพลย์ชัชชาติ” จึงอยู่ที่ฉากหลังว่าจะมีความแปลก (exotic) มากน้อยแค่ไหน ที่พิสดารจนต้องเอามาอยู่ในบทความนี้คือคุณ Knott Wittawat คนไทยในอเมริกาที่ไปถ่ายคอสเพลย์ถือถุงกระดาษ (คงหาถุงพลาสติกลำบาก) ที่สำนักงานใหญ่ของกูเกิล
 

 
ภาพโดย Knott Wittawat
 
          ในเพจ ชัชชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี  ยังเปิดให้แฟนๆ ส่งภาพคอสเพลย์ชัชชาติในแบบฉบับของตัวเองมาเผยแพร่ (รวมถึงประกวดเพื่อแจกของรางวัลอย่าง “ตุ๊กตาฟิกเกอร์ชัชชาติ” เวอร์ชัน 3d printing) ตามไปดูต่อกันเองได้ในเพจครับ เอามาลงในนี้คงไม่มีทางเก็บได้ครบ
 
มีมชัชชาติ ฮิตแค่ไหนกัน
 
          หัวข้อนี้ขอปิดท้ายด้วยการตามหาคำตอบว่า ตกลงแล้วมีมชัชชาติที่ว่าฮิตๆ น่ะ ฮิตแค่ไหน
 
          เพื่อความเป็นวิทยาศาสตร์ เราเลยขอสถิติจากบริษัท Thoth Media ที่ทำระบบติดตาม social network ของไทยชื่อ Kpiology (เท่าที่ทราบคือเก็บสถิติจาก Twitter, Facebook ที่เป็น public, Pantip และเว็บไซต์ข่าวต่างๆ) เพื่อดูว่าความฮิตของ “ชัชชาติ” เทียบกับนักการเมืองไทยคนอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง
 
          คำตอบออกมาเป็นเส้นสีแดงครับ จะเห็นว่ากระแสชัชชาติบูมสุดๆ เหนือนักการเมืองคนอื่นๆ ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้เอง หลังจากที่ดังแบบจำกัดวงอย่างเงียบๆ มานาน
 
 
          ที่เขียนไปทั้งหมด หวังว่าคงพอจะอธิบายที่มาที่ไปของ “มีมชัชชาติ” ได้บางส่วนนะครับ (มีมนี้ยังไม่จบ เราคงต้องดูต่อไปในระยะยาวๆ ว่ากระแสจะตกหรือไม่ และทิศทางของมีมจะจบลงเช่นไร ไว้อีกสัก 1-2 ปีถัดจากนี้อาจจะมีโพสต์มามองย้อนดูปรากฎการณ์ชัชชาติว่าเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว เราเห็นมันแบบไหน)

ที่มา : 
http://faceblog.in.th/2014/02/chadchart-meme-explained/ 
ชัชชาติ, ปรากฏการณ์ชัชชาติ, รมว.คมนาคม, กระแสชัชชาติ, มีมชัชชาติ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม, กระทรวงคมนาคม, ชัชชาติ, ปรากฏการณ์ชัชชาติ, รมว.คมนาคม, กระแสชัชชาติ, มีมชัชชาติ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม, กระทรวงคมนาคม, ชัชชาติ, ปรากฏการณ์ชัชชาติ, รมว.คมนาคม, กระแสชัชชาติ, มีมชัชชาติ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม, กระทรวงคมนาคม
 
ดวง / ฮวงจุ้ย
เบญจเพส หรือ วัยเบญจเพส เลขอายุที่ทุกคนเกรง 24 25 26 รู้แล้วป้องกัน ดีกว่าแก้ไขตอนที่เกิด ... อ่านต่อ
ตัวเลขเสริมบุคลิกภาพ เสริมเสน่ห์ให้ผู้หญิง ... อ่านต่อ
ตัวเลข 359 นักพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ... อ่านต่อ
ดูดวง / ฮวงจุ้ย
ทายนิสัย จากลายมือการเขียนตัวเลข ... BY : หมอเมท ... อ่านต่อ
คาถาทวงหนี้ คาถาอีกาวิดน้ำ ใช้สำหรับคนยืมเงินแล้วไม่คืนหรือของหาย ... อ่านต่อ
ตากระตุก ตาเขม่น ลางสังหรณ์ที่บ่งบอกเรื่องราวอะไร? ... อ่านต่อ
 

 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

หมอดู - ดูดวง - ทำนายเบอร์โทร - ทำนายตัวเลข - หมอเมท - ทศวิวัฒน์ - พยากรณ์เบอร์ - เบอร์มงคล - เลขมงคล - เลขศาสตร์ - หมอดูเบอร์ - จัดเบอร์มงคล - อบรมเรื่องตัวเลข - บทความตัวเลข - เลขรวย

бишкек эскорт

 

Copyright @2014 Horonumber.com All rights reserved.