พระอินทร์ : ราชาผู้ครองสวรรค์

พระอินทร์ ราชาผู้ครองสวรรค์

          ศาสนาพราหมณ์ หรือ ศาสนาฮินดู แต่โบราณจะนับถือ พระอินทร์ ให้เป็นใหญ่สูงสุด พระอินทร์ถือได้ว่าคือเทพเจ้าองค์แรกสุดของศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็ว่าได้ จนในปัจจุบัน การบูชาพระอินทร์ก็ยังมีอยู่ในหมู่ผู้ศรัทธาทั่วไป เพียงแต่ถูกลดบทบาทลงทั้งในศาสนาฮินดู ที่ยกย่อง พระพรหม พระวิษณุ (พระนารายณ์) และ พระศิวะ (พระอิศวร) ขึ้นเป็นใหญ่แทน

          เมื่อโบราณ พระอินทร์ ถือว่ามีอานุภาพสูงที่สุดในบรรดาเทพทั้งปวง สามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆได้ เช่น บันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล ให้พืชพรรณงอกงาม เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี และยังเป็นเทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุดในการบันดาลให้เกิดภัยทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม พายุอันรุนแรง ฯลฯ

          พระอินทร์ มี วัชระ หรือ สายฟ้า เป็นศาสตราวุธคู่กาย วัชระนี้สามารถสร้างสายฝนและฟ้าผ่า ฟ้าร้องได้ เป็นศาสตราวุธของเทพเจ้าที่ทรงอำนาจเป็นอย่างมาก สามารถผ่ามหาสมุทรได้ สามารถผ่าภูเขาได้ สามารถผ่าท้องฟ้าได้

          พระวรกายของพระอินทร์นั้นมีสีเหลืองทอง กระจ่างสดใส อีกตำราก็ว่าพระอินทร์มีผิวสีแดงเข้ม สวมอาภรณ์อย่างสวยสดงดงาม ดูสะอาดสะอ้าน มีงูเป็นสร้อย สวมเครื่องประดับเพชรนิลจินดามากมาย เช่น สร้อยคอ กำไลข้อมือ แหวน มงกุฎอันตระการตา ศิลปินที่วาดรูปพระอินทร์ได้งดงามจะถือว่าเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง

          พระอินทร์สามารถแปลงกายได้สารพัด สามารถล่องหนไปปรากฎอยู่ที่ใดก็ได้ สามารถเนรมิตให้ร่างกายเล็กกระจิดอย่างมด หรือเนรมิตให้ร่างกายใหญ่โตมหึมาดั่งภูเขา

          พาหนะของพระอินทร์มี 2 อย่าง คือ "รถม้า" และรถม้านั่นก็คือ "พระอาทิตย์" นั่นเอง และอีกอย่างคือ "ช้างเอราวัณ" หรือช้าง 3 เศียร (แต่เดิมมีถึง 33 เศียร)

          พระอินทร์เป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่เหนือชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ มีหน้าที่ปกป้องดูแลโลกให้พ้นจากสิ่งเลวร้ายต่างๆ เป็นผู้นำเหล่าเทพเจ้าไปกำจัดอสูรร้ายในหลายคราว

          นอกจากศาสนาพราหมณ์แล้ว ในศาสนาพุทธ พระอินทร์ ยังเป็นเทพผู้รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ยืนยงถึง 5,000 ปี เนื่องจากพระอินทร์เป็นเทวกษัตริย์ อันหมายถึงเป็นราชาแห่งเหล่าทวยเทพ จึงมีอำนาจในการสั่งการ ทำลายผู้ที่จะนำพาพระพุทธศาสนาไปในทิศทางที่ไม่ดี

          เมื่อพระอินทร์ได้ทรงสร้างอาณาจักรบนสรวงสวรรค์ให้ยิ่งใหญ่แล้ว ราชาแห่งทวยเทพพระองค์นี้ก็เนรมิตให้เหล่าเทวดาที่ได้ขึ้นสวรรค์ได้อยู่อย่างมีความสุขปราศจากมลทินและความเศร้าทุกข์ใดๆ

          พระอินทร์มีศัตรูคู่กรณีที่สำคัญที่สุดคือ งูยักษ์วริตรา ได้ทำสงครามกันหลายครั้ง แต่ละครั้งก็กินระยะเวลายาวนาน และทุกๆครั้งพระอินทร์ก็จะเป็นฝ่ายชนะเสมอ พระอินทร์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของ ธรรมะ และงูยักษ์ ก็เป็นสัญลักษณ์ของ อธรรม นั่นหมายถึงทั้งสองอย่างจะอยู่คู่กันและไม่มีทางดับสูญได้เลย

          ท้าวสักกะเทวราช คืออีกพระนามหนึ่งของพระอินทร์ ในตำราหนึ่งกล่าวไว้ว่า พระอินทร์เกิดมาจากผู้ใจบุญจำนวน 33 คน ได้ร่วมกันสร้างศาลาและร่วมกันทำเส้นทางเพื่อถวายเป็นทาน เมื่อตายไปก็ไปเกิดเป็นเทวดา เทวดาเหล่านี้ก็รวมร่างกันกลายเป็นพระอินทร์ ช้างทรงของพระอินทร์จึงมี 33 เศียร เพื่อแสดงถึงผู้กระทำคุณงามความดี 33 คนนั่นเอง

          พระอาสน์ (ที่นั่ง) ของพระอินทร์มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เมื่อร้อนขึ้นมาคราใด นั่นหมายถึงโลกมนุษย์ได้เกิดเหตุร้าย อสูรร้ายออกอาระวาด เมื่อนั้นพระอินทร์ก็จะออกจากสวรรค์ แปลงกายเป็นสัตว์ที่มีร่างกายกำยำ แข็งแกร่ง เพื่อลงมาปราบอสูรให้สิ้นไป ผู้ที่ได้ประกอบความดีบนโลกมนุษย์ เมื่อสิ้นอายุแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดา ประทับอยู่บนสรวงสวรรค์อันเป็นวิมานของพระอินทร์

          พระอินทร์จึงเป็นเทพที่จิตใจดีงาม คอยคุ้มครองผู้ที่กระทำความดีอยู่เสมอ

 

มเหสีของพระอินทร์

          มเหสีของพระอินทร์นั้น ตรวจดูตามหนังสือต่างๆว่า มีองค์เดียว และโดยมากเรียกว่า "อินทราณี" ฤา "ศจี"

          หนังสือพจนานุกรมภาษาสันสกฤตได้กล่าวไว้ว่า "มเหสี" ของ พระอินทร์ มีนามเรียกว่า ศจี อินทราณี มโฆนี อินทรศักติ ปุโลมชา และ เปาโลมี ดังนี้ ในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวว่า ตามบรรดาสตรีทั้งหลาย อินทราณีมีโชคดียิ่งกว่าหญิงทั้งสิ้น เพราะว่าภัสดาของนางจะมิได้สิ้นชีพลงด้วยชราภาพเลยในเบื้องหน้า........

          เพราะพระอินทร์จะเปลี่ยนไปกี่องค์ๆ นางอินทราณีก็จะยังคงเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์ต่อๆไป ในสวรรค์จะต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นใหญ่ปกครองโลกสวรรค์ และนางอินทราณีจะเป็นอัครมเหสีของจอมสวรรค์เสมอ เพราะฉะนั้น จึงนับว่าไม่มีเลยที่ภัสดาของนางอินทราณี จะต้องสิ้นชีพลงเพราะชราภาพ

...พระผู้เป็นเจ้าพระองค์ใด...ในคราแรกเริ่มเดิมทีอุบัติขึ้น เป็นสิ่งแรกที่มีเจตภูต 
พระผู้เป็นเจ้าองค์ซึ่งพิทักษ์เทพเจ้าทั้งหลายด้วยอานุภาพแห่งพระองค์
พระผู้เป็นเจ้าองค์ซึ่งสองโลกต้องตระหนักด้วยเดชานุภาพ และศักดานุภาพของพระองค์
พระผู้เป็นเจ้าองค์นั้นแล มนุษย์ทั้งหลายเอ๋ย...คือ พระอินทร์!!!
...พระผู้เป็นเจ้าองค์ใดบังคับโลกที่สั่นสะท้านให้นิ่งได้
ทำความมั่งคงให้แก่ขุนเขาที่หวั่นไหว พระผู้เป็นเจ้าองค์ใดสร้างสวรรค์ขึ้น
พระผู้เป็นเจ้าองค์นั้นแล มนุษย์ทั้งหลายเอ๋ย...คือ พระอินทร์!!!

 

ช้างเอราวัณ เทพเจ้าแห่งช้าง

          ในภาษาสันสกฤต เรียก ช้างเอราวัณ ว่า ไอราวต ไอราวณ ภาษาบาลีเรียก เอราวณ ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า ไอราพต ไอราวัต ไอราวัณ และ เอราวัณ ชื่อต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีความหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง แปลรวมว่า กลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝนตก โดยมีความสอดคล้องที่ว่า พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์แล้วทรงโปรยฝนให้ตกลงมายังโลก

          บางตำนานก็ว่า พระอิศวรได้ประทานช้างเอราวัณให้เป็นช้างทรงของพระอินทร์ บ้างก็ว่าช้างเอราวัณนั้นเป็นเทพบุตร อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปที่ใด เทพบุตรเอราวัณจะแปลงกายเป็นช้างเผือกสีขาว ชื่อว่า เอราวัณ และบ้างก็ว่าช้างที่มาฆมานพใช้ในการสร้างศาลาบนมนุษย์โลกนั้น เมื่อตายไปได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเอราวัณและคอยเนรมิตกายเป็นช้างทรงของพระ อินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

          เอราวัณ เป็นช้างที่มีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนภูเขา ผิวกายเผือกผ่องเมื่อเทียบกับภูเขาไกลาสซึ่งเป็นภูเขาเงิน ภูเขานั้นจะมีสีหมองคล้ำลง เป็นช้างที่มีพลังมาก เป็นเจ้าแห่งช้างทั้งหลาย ในคัมภีร์มหาภารตะกล่าวว่า

          "ช้างไอราวตะมีงา ๔ งา มี ๓ งวง รูปร่างใหญ่มหึมา และเป็นช้างเผือก"

          ในไตรภูมิพระร่วงได้พรรณนาถึงความใหญ่โตโอฬารของช้างเอราวัณไว้อย่างละเอียดดังนี้คือ

          ...และว่ายังมีเทพยดาองค์ ๑ ชื่อ ไอยราวรรณเทพบุตร ผิแลเมื่อพระอินทร์เจ้าแลมีที่สเด็จไปเล่นแห่งใดๆ ก็ดี แล ธ จะใคร่ขี่ช้างไปเล่นจึงไอยราวรรณเทพบุตรก็นิมิตรตัวเป็นช้างเผือกตัว ๑ ใหญ่นักโดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา แลมีหัวได้ ๓๓ หัวๆ น้อยๆ อยู่สองหัวอยู่สองข้าง นอกหัวทั้งหลายนั้นแลว่าหัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา แลหัวถัดเข้าไปทั้งสองข้างแลหัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้ากว้างแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา เร่งเข้าไปเถิงในก็เริงใหญ่ตัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล ส่วนหัวอันใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลายชื่อ สุทัศ เป็นพระที่นั่งแห่งพระอินทร์โดยกว้างได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วาแลฯ เหนือหัวตัวนั้นแลมีแท่นแก้วหนึ่งกว้างได้ ๙๖,๐๐๐ วา แลมีปราสาทกลางแท่นแก้วนั้นมีทั้งสองแก้วฝูงนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา ทั้งฝูงนั้นเทียรย่อมแก้ว ๗ สิ่ง แลมีพรวนทองคำห้อยย้อยลงทุกแห่งแกว่งไปมา แลมีเสียงนั้นไพเราะนักหนาดังเสียงพาทย์พิณในเมืองฟ้า ในปราสาทนั้นเทียรย่อมดัดเพดานผ้าทิพย์แลมีแท่นนอนอยู่ในที่นั้นกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา แลมีราชอาสน์หนาหมอนใหญ่หมอนน้อย หมอนอิง องค์พระอินทร์นั้นสูงได้ ๖,๐๐๐ วา แลประดับนี้ด้วยแก้วถนิอาภรณ์ทั้งหลายแล ธ นั่งเหนือแท่นแก้วนั้น หัวช้างได้ ๓๓ หัวไส้ พระอินทร์ให้เทพยดาทั้งหลายขี่ ๒๒ หัวนั้น มีบุญเพียงประดุจพระอินทร์ไส้ฯ อันว่าหัวช้างทั้ง ๓๓ หัว แลหัวๆ มีงา ๗ อันแลงาแต่ละอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา แลงานนั้นมีสระได้ ๗ สระๆ แลสระนั้นมีบัวได้ ๗ กอๆ บัวแลกอนั้นมีดอก ๗ ดอกๆ แลอันนั้นมีกลีบ ๗ กลีบๆ แลอันๆ มีนางฟ้ายืนรำระบำบรรพต แล ๗ คน แลนางแลคนๆ นั้นมาสาวใช้ได้ ๗ คนโสด...

          กล่าวโดยสรุป ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่มาก ผิวกายสีขาว มีหัว ๓๓ หัว แต่ละหัวมีงาเจ็ดงา แต่ละอันยาวสี่ล้านวา แต่ละงามีสระโบกขรณีเจ็ดสระ แต่ละสระมีกอบัวเจ็ดกอ แต่ละกอมีดอกบัวเจ็ดดอก แต่ละดอกมีกลีบเจ็ดกลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดาฟ้อนรำอยู่เจ็ดองค์ แต่ละองค์มีบริวารอีกเจ็ดนาง รวมได้ว่า ช้างเอราวัณมี ๓๓ หัว มีงา ๒๓๑ งา มีสระบัว ๑,๖๑๗ สระ มีกอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ มีดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบบัว ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ และบริวารของเทพธิดาอีก ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง

          บทบาทและหน้าที่อันสำคัญยิ่งของช้างเอราวัณ คือ เป็นพาหนะที่นำเสด็จพระอินทร์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งบนสวรรค์และมนุษย์โลก เพื่อดูแลทุกข์สุขของชาวโลก เป็นช้างศึกให้พระอินทร์ออกไปทำการรบกับพวกอสูร ทำหน้าที่ดูแลโลกทางด้านตะวันออกควบคู่กับพระอินทร์ และเนื่องจากพระอินทร์ทรงเป็นหัวหน้าเทพที่กำกับดูแลดินฟ้าอากาศ มีวัชระสายฟ้าเป็นอาวุธ เป็นศัตรูกับความแห้งแล้ง นำความอุดมสมบูร์และความชุ่มฉ่ำสู่โลกมนุษย์ ช้างเอราวัณจึงมีหน้าที่ดูดน้ำจากโลกขึ้นไปบนสวรรค์ ให้พระอินทร์บันดาลให้เกิดน้ำจากฟ้าตกลงสู่โลกมนุษย์ โดยเฉพาะประเทศทางเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงประทับใจและชื่นชมในตัวช้างเอราวัณที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลก

          ช้างเอราวัณถือว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้ช้างเอราวัณจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระอินทร์ สัญลักษณ์ของการกระทำดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในงานศิลปกรรมต่าง ๆ จึงนิยมทำรูปช้างเอราวัณควบคู่ไปกับพระอินทร์ หรือบางทีก็ทำแต่เพียงรูปช้างสามเศียรอันเป็นสัญลักษณ์ของช้างเอราวัณเท่า นั้น เหตุที่ทำเป็นรูปช้างสามเศียรแทน ๓๓ เศียรนั้นคงเป็นเพราะรูปแบบทางด้านศิลปะน่าจะมีความงดงามลงตัวมากกว่า

 

ที่มา : siamganesh 

บทความที่เกี่ยวข้อง
พระพรหม : มหาเทพผู้สร้างโลกและลิขิตชีวิตมนุษย์ ... อ่านต่อ
พระศิวะ (พระอิศวร) : มหาเทพผู้ทำลายล้าง ... อ่านต่อ
พระแม่สรัสวดี : เทวีแห่งปัญญาความรู้ ศิลปวิทยาการ การภาวนาและพิธีกรรม ... อ่านต่อ
ดูดวง / ฮวงจุ้ย
ทายนิสัย จากลายมือการเขียนตัวเลข ... BY : หมอเมท ... อ่านต่อ
คาถาทวงหนี้ คาถาอีกาวิดน้ำ ใช้สำหรับคนยืมเงินแล้วไม่คืนหรือของหาย ... อ่านต่อ
ตากระตุก ตาเขม่น ลางสังหรณ์ที่บ่งบอกเรื่องราวอะไร? ... อ่านต่อ
 

 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

หมอดู - ดูดวง - ทำนายเบอร์โทร - ทำนายตัวเลข - หมอเมท - ทศวิวัฒน์ - พยากรณ์เบอร์ - เบอร์มงคล - เลขมงคล - เลขศาสตร์ - หมอดูเบอร์ - จัดเบอร์มงคล - อบรมเรื่องตัวเลข - บทความตัวเลข - เลขรวย

бишкек эскорт

 

Copyright @2014 Horonumber.com All rights reserved.